xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” ชงเคาะมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย ทั้งในและนอกระบบ พร้อมขันนอตแบงก์รัฐดูแลประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รมว.คลัง” เตรียมชง “ครม.” เคาะมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย เน้นกลุ่มมี่ไม่มีความสามารถชำระหนี้ ทั้งใน และนอกระบบ พร้อมขันนอตแบงก์รัฐเร่งดำเนินการดูแล ปชช. ในช่วงที่ประสบปัญหา ศก. ชะลอตัว และเตรียมเสนอ “ครม.” อนุมัติวงเงิน 100,000 ล้านบาท ที่จะให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านธนาคารพาณิชย์

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ทั้งใน และนอกระบบ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เร่งดำเนินการดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จนต้องนำที่ดินไปจำนองนอกระบบให้สามารถเข้ามาเปลี่ยนแหล่งเงินกู้ (รีไฟแนนซ์) กับธนาคารได้

ทั้งนี้ แต่ละธนาคารได้กำหนดสัดส่วนวงเงินที่ประชาชนจะเข้ามารีไฟแนนซ์ ได้แก่ ธนาคารออมสิน จะดูแลในส่วนของประชาชนทั่วไป อยู่ที่รายละ 500,000 บาท ธ.ก.ส.จะดูแลในส่วนของเกษตรกร อยู่ที่รายละ 100,000 บาท และในส่วนของ ธอส. จะดูแลในส่วนที่ดินที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน ที่ดิน หากอยู่ในเงื่อนไข หรือมีหลักประกันตามที่ธนาคารกำหนดไว้ก็สามารถเข้ามาดำเนินการได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ ครม. อนุมัติวงเงิน 100,000 ล้านบาท ที่จะให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี ผ่านธนาคารพาณิชย์ ระยะเวลา 3-5 ปี โดยปีแรกจะได้รับการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ค่าธรรมเนียมค้ำประกันรัฐบาลจะออกให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย โดยการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์จะเป็นการปล่อยกู้ปกติ แต่หากรายใดมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในโครงการนี้รัฐบาลจะจ่ายให้ 70% ส่วนธนาคารพาณิชย์รับไว้ที่ 30% แต่คาดว่าจะไม่เกินกว่า 30% ของยอดทั้งหมด

ส่วนกรณีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอให้นำงบประมาณปี 2559 ช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยแล้งนั้น ยอมรับว่า ไม่สามารถทำได้ง่ายตามข้อเสนอ เพราะต้องพิจารณากฎระเบียบอย่างรอบคอบ ส่วนกรณีหลายจังหวัดในปริมณฑลเริ่มมีสภาพน้ำแห้งแล้งในคลอง คาดว่าไม่กระทบเศรษฐกิจ และชาวกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาภัยแล้งกระทบจีดีพีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 และจีดีพีประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 3 ถือว่าไม่เลวร้ายเกินไป ซึ่งยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย ทั้งราคาข้าวเปลือก ยางพารา สินค้าอุตสาหกรรม ว่าขายดีมากน้อยแค่ไหน มีเงินไปถึงเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ แตกต่างกันไปเอง คนชนบทอดอยากไม่มีน้ำใช้มากกว่านี้ แม้จะแล้งแต่ไม่ถึงกับเกิดปัญหาวิกฤต จึงเชื่อว่าจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยมองว่าชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่าเป็นห่วงมากกว่าคนกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น