xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เชื่อแพกเกจกระตุ้น ศก.รัฐบาล ปลุกสินเชื่อ SMEs หมุนแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
บสย.พร้อมเดินหน้าช่วยเอสเอ็มอี หลัง ครม.ไฟเขียวมาตรการปล่อยกู้ วงเงิน 4,100 ล้านบาท เชื่อก่อให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบร่วม 1 แสนล้าน ปลุกเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.พร้อมรับนโยบายรัฐบาลในโครงการความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทันที ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 โครงการ วงเงินรวม 4,100 ล้านบาท วานนี้ (16 มิ.ย.) คือ

1. เห็นชอบเงื่อนไขมาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยให้มีผลบังคับใช้กับลูกค้าที่ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อ นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการเป็นวงเงินไม่เกิน 875 ล้านบาท

2. เห็นชอบเงื่อนไขโครงการ Policy Loan และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 3,225 ล้านบาท และให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และปีต่อๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ บสย.ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียด

ทั้งนี้ ในการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ Policy Loan ของเอสเอ็มอีแบงก์ จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขประกอบด้วย
1. วงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท
2. วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท
3. ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 5 ปี
4. ค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดอายุการค้ำประกัน 5 ปี โดยในปีแรกรัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทนเอสเอ็มอี ส่วนปีที่ 2 และ 3 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทนเอสเอ็มอีในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน (เอสเอ็มอีรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเองร้อยละ 1 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน) และในปีที่ 4 และ 5 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรับภาระค่าธรรมเนียมเองเต็มจำนวนในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน

นายวัลลภกล่าวว่า ทั้งสองโครงการความช่วยเหลือเอสเอ็มอีดังกล่าวคาดจะก่อให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบร่วม 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อในโครงการฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรกกว่า 80,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกัน Policy Loan กว่า 15,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแน่นอน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น