xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทะลุ 4 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป
บสย.เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีทะลุ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว คาดยอดทั้งปีเกินเป้า 8 หมื่นล้านลาทแน่นอน ชี้ กลุ่มธุรกิจบริการ ทำสถิติค้ำประกันสูงสุด ตั้งแต่เริ่มโครงการ

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย.มียอดค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว 4 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายการค้ำประกันทั้งปีอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ว่ายอดการค้ำประกันในปีนี้จะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยล่าสุดยอดค้ำประกันของ บสย.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 7 พันล้านบาท สูงกว่ายอดค้ำประกันสินเชื่อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาที่เฉลี่ยเดือนละ 5 พันล้านบาท

นายวัลลภ กล่าวว่า บสย.มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 5 (พีจีเอส 5) วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โดยครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แต่พบว่ายังเหลือยอดค้ำประกันเกือบ 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น บสย.จะทำเรื่องไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอต่ออายุโครงการพีจีเอส 5 ออกไปอีกจนกว่ายอดจะหมด โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ช่วยค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีแรก จากอัตราค้ำประกันอยู่ที่ 1.75% กำหนดวงเงินค้ำประกันที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เต็มแล้ว บสย.จึงขอให้ขยายวงเงินค้ำประกันฟรีปีแรกไปอีก 5 หมื่นล้านบาท

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่ที่ประกอบกิจการมาแล้วไม่เกิน 3 ปี วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2.5% ต่อปี 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการโอท็อปและวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี

และ 4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ปะกอบการรายย่อย หรือไมโครเอสเอ็มอี วงเงิน 5 พันล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1-3% ต่อปี ซึ่ง 3 โครงการหลังนี้ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรกเช่นกัน โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายแทนเอสเอ็มอี ระยะเวลาโครงการสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ขณะนี้ยังเหลือวงเงินอยู่พอสมควร

นายวัลลภกล่าวต่อว่า สถิติอุตสาหกรรมที่มีการค้ำประกันสูงสุดตั้งแต่เริ่มโครงการ อันดับแรกคือ กลุ่มธุรกิจบริการ 1.9 หมื่นราย วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 16.08% ของยอดค้ำประกันทั้งหมด รองลงมาคือ กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ จำนวน 1.35 ราย วงเงิน 3.52 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 12.52% กลุ่มเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร จำนวน 1 หมื่นราย วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 10.68% และกลุ่มเกษตรกรรม จำนวน 1 หมื่นราย วงเงินค้ำประกัน 2.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 9.9%

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น