“กรุงเทพโพลล์” สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังถดถอย โอกาสฟื้นตัวยังห่างไกล เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อน 3 ใน 5 ได้แก่ การส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนไม่ทำงาจน คาด 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นแต่เป็นไปในลักษณะเชื่องช้า
กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง จำนวน 63 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-14 กรกฎาคม 58 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 28.94 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 24.03 ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่าปัจจัยที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่ การส่งออกสินค้า (ดัชนีเท่ากับ 4.03) การลงทุนภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 9.02) และการบริโภคภาคเอกชน(ดัชนีเท่ากับ 13.11) ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ เห็นได้จากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับ 47.58 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับ 50 เช่นกัน ขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่ทำงานได้ดีโดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 70.97 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนและเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากเดือนมกราคม 2557
เมื่อมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 59.51 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ค่าดัชนีเท่ากับ 58.41) และเมื่อมองออกไปในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 71.01 ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนกรกฎาคม 2557 ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่การดีขึ้นดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและเชื่องช้า
ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของ วัฏจักร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.1 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) รองลงมาร้อยละ 14.3 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) และร้อยละ 3.2 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) และไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดเลยที่เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด(ร้อยละ 14.3) และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด (ร้อยละ 68.3) แล้วเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะพบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอยหรือชะลอตัว
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า (1) ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 3 ใน 5 ไม่ทำงานซึ่งได้แก่ การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน (2) แม้เศรษฐกิจข้างหน้าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่การดีขึ้นดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและเชื่องช้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (3) นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วง “เศรษฐกิจถดถอย”