นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 98.28 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 11.48 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ต่างประเทศเป็นปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น อาทิ การแพร่ระบาดของโรคเมอร์ส และหนี้เสียในกลุ่มยูโรโซน แต่ดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยจะยังอยู่ในช่วงทรงตัว
นางวรวรรณ ยังกล่าวถึงภาวะการลงทุนในตลาดทุนไทยว่า ดัชนีจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ และทรงตัว แต่พร้อมจะปรับตัวดีขึ้นหากมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน จึงไม่แนะนำให้นักลงทุนเก็งกำไรในระยะสั้น แต่หากเป็นระยะยาว 5 ปีขึ้นไปยังสามารถทำได้ โดยยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก เช่น ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยโดยตรง ไทยจึงจำเป็นต้องรับมือให้ดี เพราะคาดว่า จะมีปัจจัยที่เข้ามากระทบอีกหลายระลอก ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่ไทยเผชิญอยู่ ยิ่งทำให้การบริโภคภายในประเทศซบเซามากขึ้นไปอีก รัฐบาลจึงต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้น เพื่อให้เม็ดเงินถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด
ด้าน นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ส กล่าวว่า การที่กรีซสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ได้ ถือเป็นข่าวดีที่จะทำให้ปัจจัยเสี่ยงของตลาดเงินตลาดทุนโลกคลี่คลาย และจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลดีจากกระแสเงินทุนต่างชาติครั้งนี้ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง ประกอบกับที่ผ่านมา การลงทุนของต่างประเทศที่ค้างสุทธิในตลาดหุ้นไทยมีน้อย ซึ่งขณะนี้สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติติดตาม คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หากมีสัญญาณว่า จีดีพีปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตประมาณร้อยละ 4 โดยในระยะสั้นตลาดพันธบัตรจะโดดเด่น แต่ระยะกลางถึงยาวเม็ดเงินจะไหลเข้าตลาดหุ้นมากกว่า โดยคาดการณ์ว่า จีดีพีทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 แต่หากการลงทุนภาครัฐเร่งตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 ก็จะทำให้จีดีพีทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5-4