ASTV ผู้จัดการรายวัน - กูรูมองทิศทางหุ้นไทยไตรมาส 3 จับผลประกอบการกลุ่มแบงก์ที่มีโอกาสฟื้นตัวหลังตั้งสำรองไว้เยอะในช่วงที่ผ่านมา แม้โดยรวมกำไรหาย 2 หมื่นล้าน ประเมินภาพรวมหุ้นรายตัวช่วยขับเคลื่อนตลาด แนะนำหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า และหุ้นที่ส่งสัญญาณเติบโตมาตั้งแต่ไตรมาส 2
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า นอกจากติดตามประเด็นหนี้กรีซ และผลกระทบจากตลาดหุ้นจีน ปัจจัยสำคัญในประเทศ คือ การประกาศผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระหว่าง 13-20 ก.ค. ซึ่งจะเริ่มต้นด้วย TISCO แม้จะมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะผันผวนตามผลประกอบการ แต่มองว่า หุ้นธนาคารมีโอกาสฟื้นตัวหลังหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลงสะท้อนการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นแล้ว และการฟื้นตัวของหุ้นธนาคารถ้าเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนโมเมนตัมตลาดให้มีโอกาสฟื้นขึ้นทดสอบ 1,500 จุดต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ ที่ผ่านมา หุ้นหลายๆ ตัวถูกปรับประมาณการราคาเป้าหมายลงพร้อมกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ upside ในหลายๆ หุ้นมีมากกว่า 10% โดยหุ้นที่มีมุมมองเชิงลบอยู่จากการที่ปรับราคาเป้าหมายลงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ KBANK, KTB และ SAMART รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารอื่นๆ ที่ปรับราคาเป้าหมายลงมาด้วยเช่นกัน นำโดย SCB, TMB และ BBL
ขณะเดียวกัน ประเมินว่า หุ้นปลอดภัย คือ หุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล และหุ้นที่จะมีผลการดำเนินงานฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าตลาดโดยรวม ทำให้ความผันผวนระยะสั้นถือเป็นจังหวะทยอยสะสม หุ้นที่จะเติบโตโดดเด่น เช่น SCC MINT CENTEL PTT PTTGC IVL IRPC CPN
โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ คือ ลุ้นสถานการณ์คลี่คลายพาตลาดขึ้นทดสอบ 1,480 จุด ขณะที่ปัญหาเรื่องจีนที่เพิ่มเข้ามาทำให้ตลาดมีความเสี่ยงลงทดสอบ 1,450 จุด อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ความชัดเจนปัญหาหนี้กรีซ และโอกาสที่จีนจะมีมาตรการเพิ่มเติมในช่วงสุดสัปดาห์ จะทำให้ตลาดน่าจะชะลอตัวในระดับดังกล่าว ทำให้ในเชิงกลยุทธ์ มองว่า หุ้นที่มีปันผลระหว่างกาลดี (ADVANC INTUCH) และหุ้นที่ปรับลดลงสะท้อนความเสี่ยงไปมากแล้ว จะมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีกว่าตลาดรวม
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า แม้ตลาดหุ้นไทยยังผันผวน แต่ยังคงขับเคลื่อนด้วยหุ้นรายตัวเด่น ทั้งนี้ นอกจากความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความเสี่ยงจากการปรับลดประมาณการกำไรตลาดยังมีอยู่ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ถูกปรับประมาณการกำไรปี 2558 และ 2559 ของกลุ่มธนาคารฯ หายไปราว 1.8 และ 2.09 หมื่นล้านบาท หรือลดลงจากประมาณการเดิมราว 9% และ 9.5% จากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ ตามมาด้วย NIM ที่มีแนวโน้มลดลงตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งปรับลดอัตรา 2 ครั้งติดต่อกัน และสุดท้ายคือ การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (credit cost) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่เห็นชัดเจนมากขึ้นในขณะนี้
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลกำไรที่โดดเด่นในงวดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องในงวดไตรมาส 3 ได้แก่ หุ้นส่งออก และอิงส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าได้แก่ HANA, KCE, TUF, RCL, CPF หรือหุ้นในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายเงินภาครัฐ ได้แก่ TASCO หรือธุรกิจมีลักษณะผูกขาด เช่น ดาวเทียม คือ THCOM เป็นต้น
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/58 ว่า น่าจะมีความผันผวน มองกรอบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,600-1,650 จุด โดยมีแนวรับที่ 1,460-1,464 จุด เนื่องจากได้รับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ทั้งกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นในการประชุมวันที่ 28-29 ก.ค.2558 และมีโอกาสสูงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้งวิกฤตหนี้ในกรีซไม่น่าจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ แต่น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นบ้างของการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่กระทบไทยน้อยมาก และสถานการณ์โรคไวรัสเมอร์ส ยังคงสร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการท่องเที่ยว
ในด้านเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่ำ ซึ่งปีนี้คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะอยู่ที่ 3% ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น น่าจะสูงขึ้นมาที่ 73-75% ได้ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัว คาดว่าทั้งปีจะติดลบ 1.3%
สำหรับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน พบว่า ความต้องการสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ เป็นต้น ยังคงเป็นบวก แม้แนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนภาวะสินเชื่อโดยรวมค่อนข้างตึงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินมีความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อาจสูงขึ้น
“บริษัทยังคงมองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย ปี 2558 จะไปถึง 1,800 จุดได้ เพราะความกังวลต่างๆ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด วิกฤตหนี้กรีซ จะค่อยๆ ลดลง และในไตรมาส 4/58 น่าจะเห็นการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังหากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เชื่อว่า ภาคการส่งออกรายเดือนน่าจะติดลบลดลง การบริโภค หรือการจับจ่ายใช้สอยประชาชนน่าจะดีขึ้น ทำให้คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะเติบโตสูงถึง 27% จากฐานที่ต่ำในปี 57 และราคาน้ำมันฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลุ่มมีกำไรเติบโตสูงที่สุด คือ ประกัน ขนส่ง ปิโตรเคมี ท่องเที่ยว พลังงาน และอาหาร ขณะที่กลุ่มสื่อ อาจมีกำไรหดตัวลง จากต้นทุนที่เกี่ยวข้องต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจดิจิตอลทีวี ส่วนกลุ่มอสังหาฯ จะอยู่ในระดับทรงตัว แนะลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลดีจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3/58 เป็นต้นไป ได้แก่ หุ้น ADVANC, AEONTS, CPALL, MAKRO, GLOBAL, KBANK และ TRUE”