บล.กสิกรไทย คาดตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันการลงทุนมากที่สุดในสัปดานี้ และจะเริ่มคลี่คลายลงในช่วงสัปดาห์หน้า แม้ตลาดจะยังคงมีความเสี่ยงต่อความผันผวนจากปัจจัยลบในต่างประเทศ แนะเก็งกำไรหุ้นรายตัวทยอยสะสมในระยะสั้น ชี้ SET INDEX อาจปรับตัวขึ้นถึง 1,500 จุด
นักวิเคราะห์จาก บล.กสิกรไทย กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ว่า ยังคงมุมมองว่าปัจจัยลบหลายประการกดดันตลาดมากสุดในสัปดาห์นี้ และมีโอกาสที่จะคลี่คลายลงในช่วงสัปดาห์หน้า แม้ตลาดจะยังคงมีความเสี่ยงต่อความผันผวน แต่ยังมีปัจจัยหลายประการที่มีโอกาสสนับสนุนตลาดฟื้นในช่วงสั้นๆ ได้แก่ การที่ IMF ปรับลดประมาณการ GDP โลกลงเป็น 3.3% จาก 3.8% จากการปรับลด GDP สหรัฐฯ ลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อีกทั้งการเจรจาเรื่องหนี้กรีซที่มีสัญญาณดีขึ้น หลังกรีซยื่นแผนฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับความต้องการของกลุ่มเจ้าหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งวงเงินที่กรีซขอรับความช่วยเหลือ 53 พันล้านยูโร เพียงพอสำหรับความต้องการสภาพคล่อง และการชำระคืนหนี้ในช่วง 3 ปีนี้ และมาตรการประคองการปรับลดลงของตลาดหุ้นจีน ซึ่งทางการจีนอาจมีมาตรการเพิ่มเติมในช่วงสุดสัปดาห์ นอกจากนี้ ในส่วนของการเจรจาเรื่องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่อาจล่าช้าออกไป อาจหนุนการฟื้นตัวของราคาน้ำมันช่วงสั้นในระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดในช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม หุ้นพลังงานในส่วนปลายน้ำ (ปิโตรเคมี และโรงกลั่น) มีแนวโน้มที่ดีกว่าต้นน้ำ
ขณะที่สัปดาห์หน้า ปัจจัยสำคัญในประเทศ คือ การประกาศผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระหว่างวันที่ 13-20 กรกฎาคม ซึ่งเริ่มต้นด้วย TISCO แม้จะมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะผันผวนตามผลประกอบการ แต่มองว่า หุ้นธนาคารมีโอกาสฟื้นตัวหลังหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลง สะท้อนการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นแล้ว การฟื้นตัวของหุ้นธนาคารถ้าเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดให้มีโอกาสฟื้นขึ้นถึง 1,500 จุดต่อไป
“เราประเมินหุ้นปลอดภัย (defensive) หุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล และหุ้นที่จะมีผลการดำเนินงานฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังอย่างต่อเนื่อง จะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าตลาดโดยรวม ความผันผวนระยะสั้นเรามองเป็นจังหวะทยอยสะสม หุ้นที่จะเติบโตโดดเด่น ได้แก่ SCC, MINT, CENTEL, PTT, PTTGC, IVL, IRPC, CPN โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นรายตัว (ควรตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5%) จับตาสถานการณ์คลี่คลาย SET INDEX อาจปรับตัวขึ้นที่ 1,480 จุด”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยสำคัญในต่างประเทศที่ต้องติดตามยังคงเป็นวิกฤตหนี้ของประเทศกรีซ ที่ยังเป็นปัจจัยกดดันจิตวิทยาการลงทุนหลัก หลังการโหวตไม่รับแผนการรัดเข็มขัดเพื่อแลกต่อเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากนานาประเทศ สถานการณ์หนี้กรีซเริ่มตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสะท้อนออกมาที่ค่าประกันความเสี่ยงผิดชำระหนี้ (CDS) ของกรีซที่ปรับตัวขึ้น โดยสถานการณ์ล่าสุด กรีซได้ยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการเพื่อขอรับเงินกู้ระยะ 3 ปี จากทางกองทุน ESM พร้อมกับยืนยันที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขบางประการที่เจ้าหนี้เรียกร้องในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ประธานสภายุโรปได้ขีดเส้นตายกรีซสำหรับการบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อเลี่ยงภาวะล้มละลายภายในวันอาทิตย์นี้ (12 ก.ค.)
ขณะที่ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการรายงานการประชุมเฟด (Fed minutes) ไม่สดใส โดยเจ้าหน้าที่เฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในต่างประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวปานกลางเท่านั้น ซึ่งประเด็นเรื่องความกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังเป็นปัจจัยที่มีโอกาสกดดันต่อเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ทำให้ตลาดในระยะสั้นคงความผันผวน โดยการศึกษาของเราพบเงินทุนจะไหลออกกดดันต่อตลาดหุ้นมากสุดในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังการเริ่มขึ้นดอกเบี้ยของ Fed (ธนาคารกสิกรไทย คาดว่า Fed จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย.58)
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจีนเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น รับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแรงนับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน หลังเกณฑ์การวางหลักประกันมาร์จิ้น (margin requirement) ถูกทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อสกัดความร้อนแรงของตลาด ทั้งนี้ มาตรการล่าสุดจากทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน เช่น 1) การประกาศห้ามไม่ให้นักลงทุนที่ถือหุ้นเกิน 5% ทำการขายหุ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน และ 2) มีคำสั่งไม่ให้รัฐวิสาหกิจจีนที่บริหารงานโดยรัฐบาลกลางของจีน ขายหุ้นขององค์กรในบริษัทจดทะเบียน ได้ช่วยชะลอแรงขาย และหนุนจิตวิทยาการลงทุนขึ้นมาอีกครั้งวานนี้ (9 ก.ค.) ซึ่งคาดว่า ทางการจีนยังน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติม และอาจประกาศมาตรการสำคัญในช่วงสุดสัปดาห์นี้เพื่อประคองการร่วงลงของตลาดหุ้นจีน ซึ่งน่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์หน้า