ASTVผู้จัดการรายวัน - กูรูมองทิศทางหุ้นไทยไตรมาส 3 จับผลประกอบการกลุ่มแบงก์ที่มีโอกาสฟื้นตัวหลังตั้งสำรองไว้เยอะในช่วงที่ผ่านมา แม้โดยรวมกำไรหาย 2 หมื่นล้านบาท ชี้ภาพรวมหุ้นรายตัวช่วยขับเคลื่อนตลาด พร้อมประเมินหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่ามีความน่าสนใจ เช่นเดียวกับหุ้นที่ส่งสัญญาณเติบโตมาตั้งแต่ไตรมาส 2
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทย ว่า นอกจากติดตามประเด็นหนี้กรีซ และผลกระทบจากตลาดหุ้นจีน ปัจจัยสำคัญในประเทศคือ การประกาศผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระหว่าง 13-20 ก.ค. ซึ่งจะเริ่มต้นด้วย TISCO แม้จะมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะผันผวนตามผลประกอบการ แต่มองว่าหุ้นธนาคารมีโอกาสฟื้นตัวหลังหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลง สะท้อนการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นแล้ว และการฟื้นตัวของหุ้นธนาคารถ้าเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนโมเมนตัมตลาดให้มีโอกาสฟื้นขึ้นทดสอบ 1,500 จุดต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ ที่ผ่านมาหุ้นหลายๆ ตัวถูกปรับประมาณการราคาเป้าหมายลงพร้อมกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ upside ในหลายๆ หุ้นมีมากกว่า 10% โดยหุ้นที่มีมุมมองเชิงลบอยู่จากการที่ปรับราคาเป้าหมายลงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ KBANK , KTB และ SAMART รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารอื่นๆ ที่ปรับราคาเป้าหมายลงมาด้วยเช่นกัน นำโดย SCB, TMB และ BBL
ขณะเดียวกัน ประเมินว่าหุ้นปลอดภัย คือ หุ้นที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล และหุ้นที่จะมีผลการดำเนินงานฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าตลาดโดยรวม ทำให้ความผันผวนระยะสั้นถือเป็นจังหวะทยอยสะสม หุ้นที่จะเติบโตโดดเด่น เช่น SCC MINT CENTEL PTT PTTGC IVL IRPC CPN
“โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้คือ ลุ้นสถานการณ์คลี่คลายพาตลาดขึ้นทดสอบ 1,480 จุด ขณะที่ปัญหาเรื่องจีนที่เพิ่มเข้ามาทำให้ตลาดมีความเสี่ยงลงทดสอบ 1,450 จุด อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าความชัดเจนปัญหาหนี้กรีซ และโอกาสที่จีนจะมีมาตรการเพิ่มเติมในช่วงสุดสัปดาห์จะทำให้ตลาดน่าจะชะลอตัวในระดับดังกล่าว ทำให้ในเชิงกลยุทธ์มองว่า หุ้นที่มีปันผลระหว่างกาลดี (ADVANC INTUCH) และหุ้นที่ปรับลดลงสะท้อนความเสี่ยงไปมากแล้ว จะมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีกว่าตลาดรวม”
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า แม้ตลาดหุ้นไทยยังผันผวน แต่ยังคงขับเคลื่อนด้วยหุ้นรายตัวเด่น ขณะเดียวกัน นอกจากความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความเสี่ยงจากการปรับลดประมาณการกำไรตลาดยังมีอยู่ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ถูกปรับประมาณการกำไรปี 2558 และ 2559 ของกลุ่มธนาคารฯ หายไปประมาณ 1.8 และ 2.09 หมื่นล้านบาท หรือลดลงจากประมาณการเดิมราว 9% และ 9.5% จากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ ตามมาด้วย NIM ที่มีแนวโน้มลดลงตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งปรับลดอัตรา 2 ครั้งติดต่อกัน และสุดท้ายคือ การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (credit cost) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่เห็นชัดเจนมากขึ้นในขณะนี้
“ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลกำไรที่โดดเด่นในงวดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องในงวดไตรมาส 3 ได้แก่ หุ้นส่งออก และอิงส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ HANA, KCE, TUF, RCL, CPF หรือหุ้นในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายเงินภาครัฐ ได้แก่ TASCO หรือธุรกิจมีลักษณะผูกขาด เช่น ดาวเทียม คือ THCOM เป็นต้น”
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/58 ว่า น่าจะมีความผันผวน มองกรอบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,600-1,650 จุด โดยมีแนวรับที่ 1,460-1,464 จุด เนื่องจากได้รับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ทั้งกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นในการประชุมวันที่ 28-29 ก.ค.2558 และมีโอกาสสูงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้งวิกฤตหนี้ในกรีซไม่น่าจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ แต่น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นบ้างของการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่กระทบไทยน้อยมาก และสถานการณ์โรคไวรัสเมอร์สยังคงสร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการท่องเที่ยว
ในด้านเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่ำ ซึ่งปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะอยู่ที่ 3% ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น น่าจะสูงขึ้นมาที่ 73-75% ได้ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัว คาดว่าทั้งปีจะติดลบ 1.3%
สำหรับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน พบว่า ความต้องการสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ เป็นต้น ยังคงเป็นบวก แม้แนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนภาวะสินเชื่อโดยรวมค่อนข้างตึงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินมีความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อาจสูงขึ้น
“บริษัทยังคงมองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย ปี 2558 จะไปถึง 1,800 จุดได้ เพราะความกังวลต่างๆ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด วิกฤตหนี้กรีซ จะค่อยๆ ลดลง และในไตรมาส 4/58 น่าจะเห็นการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังหากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เชื่อว่าภาคการส่งออกรายเดือนน่าจะติดลบลดลง การบริโภค หรือการจับจ่ายใช้สอยประชาชนน่าจะดีขึ้น ทำให้คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะเติบโตสูงถึง 27% จากฐานที่ต่ำในปี 57 และราคาน้ำมันฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลุ่มมีกำไรเติบโตสูงที่สุด คือ ประกัน ขนส่ง ปิโตรเคมี ท่องเที่ยว พลังงาน และอาหาร ขณะที่กลุ่มสื่อ อาจมีกำไรหดตัวลง จากต้นทุนที่เกี่ยวข้องต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจดิจิตอลทีวี ส่วนกลุ่มอสังหาฯ จะอยู่ในระดับทรงตัว แนะลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลดีจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3/58 เป็นต้นไป ได้แก่ หุ้น ADVANC, AEONTS, CPALL, MAKRO, GLOBAL, KBANK และ TRUE”