xs
xsm
sm
md
lg

วสท. วิเคราะห์สาเหตุภัยพิบัติถนนทรุดจากวิกฤตภัยแล้ง เสนอ 4 แนวทางแก้ไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ซ้ายมือ) นายก วสท. และสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายก ร่วมแถลงผลการตรวจสอบถนนทรุด
วสท. ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุภัยพิบัติถนนทรุด ชี้สาเหตุจากวิกฤตภัยแล้งน้ำลดต่ำจนแห้งผิดปกติ ทำให้ตลิ่งพังทลายส่งผลกระทบต่อถนนและระบบสาธารณูปโภคใกล้เคียง พร้อมเสนอ 4 แนวทางด้านเทคนิคและนโยบายเพื่อใช้แก้ปัญหาในอนาคต

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีตลิ่งสูงชันและถนนที่อยู่เลียบแม่น้ำลำคลอง เกิดการทรุดตัวและพังทลายเสียหายมากในพื้นที่ จ.สระบุรี, จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่มีคูคลองจำนวนมาก ส่วนจังหวัดชัยนาท มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งลง จนเป็นเหตุให้บ้านริมตลิ่งเสียหายและทรุดตัวลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอมโนรมย์ รวม 13 หลัง

การวิบัติทางวิศวกรรม โดยทั่วไปมักมาจากสาเหตุ 4 ประการ คือ 1.การออกแบบถูกต้องหรือไม่ 2.การก่อสร้างตามแบบและข้อกำหนดของวิธีปฏิบัติ หรือไม่ 3.มีการใช้งานผิดประเภท 4.เกิดจากภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด กรณีถนนเลียบคลองทรุดเสียหายหนักในพื้นที่ จ.สระบุรี, จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ส่งทีมลงสำรวจ และพบว่า ภาวะแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อทำให้น้ำในแม่น้ำคูคลองลดเหลือน้อยมาก ทำให้ถนนเลียบแม่น้ำคูคลองมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับความยาวถนนทั้งหมด กว่า 60,000 กิโลเมตร ส่วนที่เสียหายนั้นถือว่าน้อย แต่จำเป็นต้องพิจารณาหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหา

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายก วสท. และประธานคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมปฐพี วสท. กล่าวว่า ถนนส่วนใหญ่ที่เสียหายเป็นถนนริมคลองชลประทาน ซึ่งเป็นถนนสายรองที่ออกแบบไว้รองรับเพียงการขนส่งพืชผลทางการเกษตรและการเข้าไปบำรุงรักษาคลอง ก่อสร้างพร้อมการขุดคลองชลประทานโดยการนำดินที่ขุดจากการขุดคลองไปถมเป็นถนน หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงส่วนผิวทางด้านบนเพื่อใช้ในการรองรับการจราจรให้มากกว่าเดิม โดยการภัยพิบัติของถนนริมคลองนั้นได้เกิดขึ้นมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ในปีนี้เกิดมากตามระยะเวลาของความแห้งแล้งที่ยาวนาน

จากการตรวจสอบภาคสนามและประมวลงานศึกษาวิจัยต่างๆ วสท.สรุปถึงสาเหตุการพิบัติ ได้ดังนี้ 1.การพิบัติของถนนริมคลองชลประทาน เกิดส่วนใหญ่ในพื้นที่ดินเหนียวอ่อน พื้นที่ที่มีดินฐานรากเป็นดินเหนียวที่อ่อนมากและหนามากจะมีโอกาสของการพิบัติที่มากกว่า 2.คลองชลประทานมีโอกาสเกิดการลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว (sudden drawdown) จากการจ่ายน้ำเข้าคลองสายย่อย ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการพิบัติของตลิ่งมากขึ้น

3.ฤดูแล้งที่ยาวนานส่งผลโดยตรงต่อการพิบัติของลาดตลิ่งริมคลองชลประทาน เนื่องด้วยเหตุผล คือ ก. ระดับน้ำจะต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่ใช้ในการออกแบบ ข. การที่ไม่มีน้ำมาช่วยพยุงตลิ่งไว้เป็นเวลานาน ดินฐานรากตลิ่งอาจเกิดการคืบตัว (creep) อย่างช้าๆ จนพิบัติในที่สุด ค. ความแห้งแล้งที่ยาวนานอาจส่งผลให้ชั้นดินของลาดตลิ่งแห้งและหดตัว (shrink) ทำให้สูญเสียกำลังความแข็งแรง และพิบัติในที่สุด ง. การกัดเซาะของลาดตลิ่งที่ทำให้ตลิ่งชันอาจเกิดขึ้นมานานแล้วแต่ไม่ส่งผล เพราะน้ำช่วยพยุงลาดตลิ่งไว้ จ. การสูบน้ำของเกษตรกรโดยการขุดลาดตลิ่งให้ชันหรือเป็นหลุมทำให้ตลิ่งมีความชันมากขึ้น และมีโอกาสการพิบัติได้ง่ายขึ้น

การแก้ไขทางด้านเทคนิควิศวกรรม สำหรับถนนที่ทรุดเสียหาย สามารถพิจารณาแก้ไขได้หลายรูปแบบ เมื่อถนนขยับตัว ใส่เสาเข็มไม้สน หรือเสาเข็มคอนกรีตยันไว้ ดังเช่น อบจ.ปทุมธานี, การทำเบิร์ม (Berm) เสริมดินส่วนสโลปตรงฐานคันดินเพื่อกันดินสไลด์, การขุดตักดินอ่อนออกแล้วลงเสาเข็มปูพรม, การทำกำแพงกันดิน, การใช้วัสดุอีพีเอส โฟม เช่น สะพานพระราม 5 ใข้กับคอสะพาน ทางหลวงหลายแห่งก็ใช้ได้ผล เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เสนอ 5 แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสำหรับแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนี้ 1.ควรตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากกรมชลประทานและยังมีหลายหน่วยงานที่ขอใช้พื้นที่ถนนริมคลอง ได้แก่ กรมทางหลวงชนบท, หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ปัญหานี้จะยังคงมีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ วสท.ยินดีเป็นเจ้าภาพกลาง และยินดีสนับสนุนข้อแนะนำทางวิชาการอย่างเป็นกลาง ที่เสนอเช่นนี้เพราะการแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในมิติเดียว

2.ควรทบทวนระดับความสำคัญของถนนให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง ทั้งนี้ ถนนที่มีการจราจรมากควรยกระดับหรือฐานะของถนนให้สอดคล้อง เพื่อที่จะได้ทำการปรับปรุงทางวิศวกรรมให้เหมาะสมต่อไป การปรับปรุงที่สำคัญ คือ การปรับปรุงสภาพฐานรากเดิมของถนนให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

3.การสำรวจชั้นดินฐานรากให้มีความครอบคลุมมีความสำคัญมากในการก่อสร้างถนนริมคลองในพื้นที่ดินอ่อน อย่างไรก็ตาม การเจาะสำรวจอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถครอบคลุมได้ จึงอาจพิจารณาใช้การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ควบคู่ไป ถึงแม้ว่างบประมาณในการสำรวจรวมไปถึงการก่อสร้างจะมากขึ้น แต่คุ้มค่ากว่าการเสียงบประมาณในการซ่อมแซมภายหลังมาก

4.ถนนบางสายอาจจะออกแบบให้ใช้ประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมควบคู่ไปกับการใช้เป็นถนนเพื่อการจราจร ถนนดังกล่าวเหล่านี้ควรจะถูกยกระดับความสำคัญให้มาก และควรมีงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินการให้ปลอดภัยในสถานการณ์วิกฤต

สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชน ควรมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ หลีกเลี่ยงการขุดที่จะทำให้ตลิ่งหรือโครงสร้างใกล้ถนนริมคลองเปลี่ยนรูปแบบไป อย่าขับรถเข้าใกล้รอยแยกร้าวหรือทรุด ผู้อยู่อาศัยชายน้ำที่มีตลิ่งสูงชันและน้ำลดมากควรย้ายออกห่างจากพื้นที่เสี่ยง หากพบเห็นสิ่งผิดปกติ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


นักวิชาการชี้ ถนน-บ้านเรือนเรียงคิวทรุดตัว ต้นเหตุจาก “ยิ่งลักษณ์” จัดการน้ำผิดพลาด
นักวิชาการชี้ ถนน-บ้านเรือนเรียงคิวทรุดตัว ต้นเหตุจาก “ยิ่งลักษณ์” จัดการน้ำผิดพลาด
เผยต้นเหตุหลักภัยแล้งเกิดจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เร่งปล่อยน้ำในเขื่อน ทั้งเกรงน้ำท่วมซ้ำและปล่อยน้ำเสริมโครงการรับจำนำข้าว จนน้ำในเขื่อนเหลือน้อยกระทั่งวิกฤต เมื่อเจอภาวะฝนทิ้งช่วงยิ่งทำให้ภาวะภัยแล้งหนักขึ้นกว่าเดิม จนกลายเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร เกษตรกรไม่มีรายได้ บั่นทอนกำลังซื้อ ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมปฐพี และฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ชี้ภัยแล้งเป็นเหตุน้ำในคลองแห้งไม่มีแรงรับน้ำหนักถนน หวั่นอีกหลายสายทรุดตาม-บ้านริมคลองที่โครงสร้างไม่แข็งแรงมีโอกาสพังได้ทั้งหลัง มั่นใจไม่ลามถึง “เขื่อน-รถไฟฟ้า” เหตุวิศวกรออกแบบรองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น