xs
xsm
sm
md
lg

วสท.แนะ 6 วิธีดีดบ้าน-ยกอาคาร เตือนต้องยกพร้อมกันทั้งอาคาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วสท.ระบุอุโบสถ วัดต้นเชือกถล่ม สาเหตุแม่แรงแตก รับน้ำหนักไม่ไหว พร้อมแนะ 6 ขั้นตอนยกอาคาร หรือดีดบ้าน เตือนขณะยกอาคาร ต้องยกพร้อมกันทั้งหลัง ต้องค้ำยันให้อาคารมีเสถียรภาพ ฐาน-เสาเข็มรองรับต้องแข็งแรง

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายเบื้องต้น กรณีอุโบสถวัดต้นเชือก ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เกิดถล่ม ขณะกำลังดีดตัวอาคาร ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา อุโบสถนี้ก่อสร้างมาประมาณ 60 กว่าปี ลักษณะโครงสร้างมีเสา คาน โครงสร้างปูน ไม้ ทั่วไป สอบถามทางวัดแจ้งว่า พื้นที่นี้มีน้ำท่วมสูงทุกปี จึงต้องการยกอาคารให้สูงขึ้นอีกประมาณ 4 เมตร ซึ่งขณะที่ทำการยกอาคารโดยใช้แม่แรงไปได้ประมาณ 3 เมตร แม่แรงตัวหนึ่งทานน้ำหนักไม่ไหว หรืออาจมีความบกพร่อง ทำให้แม่แรงแตก ไม่สามารถรับน้ำหนักไหว อาคารจึงถล่มลงมา

ด้าน ดร.ธเนศ วีระศิริ ที่ปรึกษา เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า การยกอาคาร คือ การปรับยกอาคารให้สูงกว่าระดับที่เป็นอยู่เดิม โดยใช้หลักการทางกล หรือเครื่องมือกล สำหรับชนิดของการยกอาคาร มีดังนี้ 1.การดีดอาคาร หรือดีดบ้าน ตามที่ชาวบ้านเรียกกันนั้น หมายถึง การตัดเสาชั้นล่างของบ้าน แล้วยกยืดเสาให้ยาวขึ้น ซึ่งช่างชาวบ้านจะใช้รอกดึงบ้านขึ้น ทำให้ความสูงของชั้นล่างเพิ่มมากขึ้น

2.การยกอาคาร เป็นการยกอาคารโดยใช้หลักการทางวิศวกรรม ทำการยกอาคารด้วยแม่แรงไฮดรอลิก ยกอาคารจากใต้คานคอดิน ยกให้สูงได้ตามต้องการ การยกวิธีนี้จะไม่ทำให้ความสูงของแต่ละชั้นมีความเปลี่ยนแปลง ตัวบ้านทั้งหลังจะถูกยกขึ้นสูงได้ตามระดับที่ต้องการ

ทั้งนี้ การยกอาคารที่ถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรมใช้กับอาคารได้ทุกชนิด ได้แก่ บ้านไม้ อาคารอิฐก่อ อาคารเหล็ก หรืออาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อยกอาคาร หรือบ้านขึ้นได้ และสามารถหมุนบ้าน หรือย้ายบ้านได้ด้วย ลำดับขั้นตอนการยกอาคาร มีดังนี้ 1.ทำเสาเข็ม หรือฐานรองรับ 2.ทำค้ำยันเพื่อถ่ายน้ำหนักจากตัวอาคารลงสู่เสาเข็ม หรือฐานที่รองรับ 3.ติดตั้งแม่แรงไฮดรอลิก 4.ตัดเสาตอม่อ หรือเสาเข็มให้ขาดจากฐานรากเดิม 5.ยกอาคารทั้งหลังขึ้นพร้อมกัน ในขณะยกจะทำค้ำยันตามไปด้วย 6.เมื่อยกได้ความสูงที่ต้องการแล้ว ทำการต่อเสาอาคาร หรือบ้านลงสู่ฐานราก

ขั้นตอนที่ควรระวัง คือ ขณะยกอาคาร ต้องยกให้พร้อมกันทั้งหลัง ป้องกันไม่ให้เกิดการดึงรั้งขณะยกอาคาร และในขั้นตอนการค้ำยัน จะต้องค้ำยันให้อาคารมีเสถียรภาพ และฐานรองรับ หรือเสาเข็มที่รองรับต้องที่ความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า งานวิศวกรรมควบคุม ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ได้กำหนดลักษณะงานไว้ ได้แก่ 1.งานให้คำปรึกษา 2.งานวางโครงการ 3.งานคำนวณออกแบบ 4.งานควบคุมการก่อสร้าง 5.งานพิจารณาตรวจสอบ และ 6.งานอำนวยการใช้ และกำหนดงานวิศวกรรมควบคุม เป็น 21 ประเภท อาทิ อาคารทั่วไป อาคารสาธารณะ อาคารโรงงานอุตสาหกรรม งานนั่งร้าน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า งานยกอาคาร ซึ่งอาจเป็นการยกขึ้น ยกลง เคลื่อนย้าย ไม่เข้าองค์ประกอบของประเภทงาน แต่ในลักษณะงานที่ปฏิบัติ กฎกระทรวงได้กำหนดให้ งานลำดับที่ 4 งานควบคุมการก่อสร้าง ให้หมายรวมถึงการติดตั้ง รื้อถอน ปรับปรุง จึงมีความพยายามที่จะระบุ และกำหนดให้งานยก และเคลื่อนย้ายอาคาร นั้น ควรเป็นงานวิศวกรรมควบคุมอีกประเภทหนึ่งอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในดำเนินการงานดังกล่าวอย่างปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

ทาง วสท.มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในต่างจังหวัดมักมีการจ้างยกอาคารอยู่เสมอ ถ้าเป็นบ้าน หรืออาคารขนาดเล็กอาจจะเสี่ยงน้อย แต่การยกอาคารขนาดใหญ่ควรมีวิศวกรควบคุมดูแลเพื่อมิให้เกิดอันตรายระหว่างการยกอาคาร ปัจจุบันการยกอาคารด้วยแม่แรงไฮดรอลิกนับว่าปลอดภัยที่สุด วสท.จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ช่างชาวบ้าน หรือจะขอคำปรึกษาจากคลินิคช่าง วสท. โทร.02-184-4600-9 www.eit.or.th

 
กำลังโหลดความคิดเห็น