“ประยุทธ์” ประชุม ครม.เศรษฐกิจ สั่งถกทุกสัปดาห์ หลัง ศก.ชะลอตัว รบ.เร่งหาทางช่วย จี้รักษาฐานการตลาด เร่งการลงทุนภาครัฐ ดันโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.8 หมื่นล้าน หาทางลดต้นทุนเกษตรกร เมินประชานิยม ชี้ไตรมาส 2-3 ช่วงสำคัญขับเคลื่อน ศก. คาดจีดีพีทั้งปีโต 3.5-4.5% เผยข้อตกลงไทย-จีนสร้างรถไฟ คาดเริ่มสร้างปี 59 รับรถไฟฟ้า 6 สายคืบไปมาก
วันนี้ (1 8มี.ค.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในที่ประชุม ภายหลังการประชุมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้การรถไฟฟ้าขนส่งมลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกันแถลงผลการประชุม
นายอำพนเปิดเผยว่า นายกฯ สั่งการให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเป็นประจำทุกสัปดาห์ และมอบหมายให้นายอาคมในฐานะเลขาธิการ ครม.เศรษฐกิจ รายงานภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศในที่ประชุมด้วย โดยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้อยู่ในสภาวะชะลอตัว มีการปรับลดดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จาก 3.8 เหลือ 3.5 รวมถึงกลุ่มประเทศที่เกิดใหม่ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทย อยู่ในสภาวะชะลอตัวมีการปรับลดจีดีพี จาก 4.9 เหลือ 4.3 จึงถือว่าสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเหมือนกันทั้งโลก และส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง รายได้ชาวบ้านลดลง และแรงงานอุตสาหกรรมลดลง จึงต้องหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน นายกฯ จึงกำชับกระทรวงพาณิชย์ในการรักษาฐานตลาดให้ได้เหมือนเดิม และเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนเพื่อส่งออกสินค้าไปเพื่อนบ้านแทนตลาดโลก และคงตลาดเก่า สร้างส่วนแบ่งการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น
นายอำพนกล่าวต่อว่า อีกทั้งให้มีการเร่งรัดการลงทุนในภาครัฐ ที่คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะสามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ถึงร้อยละ 90 ของโครงการทั้งหมด พร้อมทั้งให้มีการเร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกเส้นทางและรายงาน ครม.รับทราบความคืบหน้าในทุกสัปดาห์ ประกอบกับการผลักดันโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างระบบชลประทานและขุดลองคูคลอง นอกจากนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ จัดเตรียมหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรในฤดูการผลิตที่กำลังจะมาถึง โดยไปจัดทำในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตำบล เช่น โรงสีชุมชน รถเกี่ยวข้าวร่วมกัน จัดตั้องเป็นกองทุนในหมู่บ้าน เป็นต้น โดยให้สำรวจความต้องการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ รวมไปถึงแนวทางพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ
“เหตุที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ สภาวะเศรษฐของโลก ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ การจัดระเบียบของภาครัฐที่ทำให้ธุรกิจมืด ที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้กับคนรากหญ้า เม็ดเงินลดลง และการแก้ไขโครงสร้างกฎหมาย แต่รัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดยไม่ใช้วิถีการอัดเม็ดเงิน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะจะทำให้เสียวินัยการเงิน และการคลัง รวมถึงเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะ โดยยอมรับว่าที่ผ่านมามาตรการประชานิยมบางอย่าง มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง คาดหวังว่า ในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ถือเป็นช่วงช่วงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด” นายอำพนระบุ
ด้านนายอาคมกล่าวเสริมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีขึ้นตั้งแต่กลางปี 2557 เพราะรัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างท่อตั้งแต่ปี 2556-2558 ส่วนงบประมาณปี 2558 จะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรก มีงบลงทุนเพิ่มถึงร้อยละ 6 และในเดือนมีนาคมคาดว่าจะเบิกจ่ายได้มากกว่าร้อยละ 6 ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวถือว่าอยู่ในระดับดีขึ้น ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่วงเที่ยวชาวจีน แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวยังมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์ภายในประเทศ ส่วนด้านการลงทุนของภาคเอกชนได้รับอานิสงค์มาตรการด้านการเงิน ที่ปรับลดดอกเบี้ยลงมาร้อยละ 0.25 ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชน
“มาตรการทั้งหมดจะทำให้จีดีพีในไตรมาสแรกปี 2558 โตถึงร้อยละ 3 และจะโตขึ้นเรื่อยในไตรมาสต่อๆ ไป เนื่องจากจะมีการทำสัญญาการก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ และจะมีเม็ดเงินของกระทรวงคมนาคม อีก 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้คาดการณ์ว่า จีดีพีของประเทศทั้งปีจะโตร้อยละ 3.5-4.5” นายอาคมกล่าว
สำหนับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟที่เป็นทางไทย-จีน นายอาคมเปิดเผยว่า ทั้ง 2 ประเทศ ประชุมรวมกันไปแล้ว 3 ครั้ง ตกลงกันว่าการออกแบบ เทคโนโลยีระบบราง ตัวรถ และระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ จะเป็นเป็นของจีน ส่วนบริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นของไทย ขณะที่การเดินรถตกลงว่าจะมีการตั้งบริษัทเดินรถร่วม โดยมีแหล่งเงินมาจากทั้งงบประมาณทั้งงบในประเทศ และเงินกู้จากจีน สำหรับตารางเวลาที่กำหนดมี ดังนี้ ระหว่างเดือน มี.ค.-ส.ค.จะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ การสำรวจ และออกแบบระบบ จากนั้นในเดือน ก.ย.จะเป็นการอนุมัติในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเส้นทางกรุงเทพ-แก่งคอย-มาบตาพุด จะเริ่มก่อสร้างในเดือน ต.ค. โดยจะต้องทำควบคู่กับการสำรวจผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย จะทำเรื่องการสำรวจและออกแบบ คาดว่าจะเป็นภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ส่วนการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2559
ขณะที่นายพีระยุทธได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างไฟฟ้า 6 สายสำคัญ โดยสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ทางไทยได้เร่งรัดประเทศญี่ปุ่นในการประกอบตัวรถเพื่อนำมาทดลองการเดินรถ ขบวนแรกภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน จากนั้นจึงจะทยอยส่งตัวรถโดยเดือน ก.ย.จะมีการทดสอบและทดลองเดินรถทั้งระบบในเดือน มี.ค. 59 และเปิดเต็มรูปแบบเดือน ส.ค. 59 สายที่ 2 สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร มีความคืบหน้าด้านโยธาร้อยละ 60 และอยู่ระหว่างให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมแข่งขันระบบงานเดินรถ คาดเปิดให้บริการกลางปี 2562 สายที่ 3 สายสีเขียวสายใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ มีความคืบหน้าในการก่อสร้างกว่าร้อยละ 51 คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ทันในปี 2563 เช่นเดียวกับสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเริ่มก่อสร้างในเดือน มิ.ย.นี้
นายพีระยุทธกล่าวด้วยว่า สำหรับรถไฟอีก 3 สายอยู่ในระหว่างการขออนุมัติดำเนินโครงการต่อกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ประกอบด้วย สายสีส้ม พระราม 9-มีนบุรี ช่วงระยะทาง 21 กม. หาก ครม.อนุมัติจะเปิดให้ประกวดราคาก่อสร้างได้ในปีนี้ คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2559 และเดินรถได้ในปี 2563 ส่วนสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองนั้น หากผ่านความเห็นชอบคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2563