“สมหมาย” เผยใบสั่ง “บิ๊กตู่” เร่งจัดแถวการใช้เงินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นห่วงโครงการเดินหน้าล่าช้า เตรียมวางแผน 3 ระยะ ถึงปี 59 พร้อมส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ ขณะที่โครงการปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ยังอืด ชี้ดอกเบี้ยสูง ผู้ประกอบการระมัดระวังการให้สินเชื่อ “ออมสิน” ครวญเศรษฐกิจตกสะเก็ดดันหนี้เสียครึ่งปีแรกพุ่งแตะ 2% คลังเปิดเกมรุกใหม่จัดงาน “มหกรรมแบงก์รัฐ” อุดช่องโหว่การช่วยเหลือประชาชน
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปดูการใช้จ่ายเงินของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหมดว่า โครงไหนจะลงทุนเมื่อไร และจะใช้แหล่งเงินจากไหนบ้าง ซึ่งมีอยู่ 3 ทาง คือ การใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ และการร่วมทุนภาครัฐ และเอกชน (PPP) เพื่อบริหารให้การลงทุนของภาครัฐมีความต่อเนื่อง
“ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังทำได้ล่าช้า ก็ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปดูให้ชัดว่าจะทำโครงการอะไร เมื่อไร ใช้เงินจากไหน ซึ่งกระทรวงการคลังก็เป็นห่วงเรื่องนี้เหมือนนายกรัฐมนตรีเช่นกัน”
นายสมหมาย กล่าวเสริมว่า การจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกคือ การลงทุนที่ดำเนินการอยู่ไปจนถึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วงที่สอง การลงทุนตั้งแต่หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีการทำประชามติ มีการออกกฎหมายลูก จนรัฐบาลพ้นจากตำแหน่งประมาณปลายปี 2559
สำหรับการลงทุนในช่วงสุดท้าย เป็นการลงทุนที่จะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการ ทั้งโครงการที่ดำเนินการแล้วก็ต้องดูว่ามีส่วนที่ไม่เสร็จที่ต้องให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการต่อ ก็จะมีความชัดเจนว่าส่วนที่จะทำต่อจะใช้เงินจากแหล่งไหน รวมทั้งยังมีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลปัจจุบันก็สร้างความชัดเจนให้แก่รัฐบาลใหม่สานต่อไป
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) ซึ่งพบว่ามีเอกชนเปิดให้บริการแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 2 ราย คือ บริษัท ไทยเอช แคปปิตอล จำกัด และบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด โดยมีประชาชนในกรุงเทพฯ และปทุมธานี ได้ติดต่อขอกู้เงินรวมกันแล้วกว่า 1 พันราย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะเริ่มให้สินเชื่อรวมกันประมาณ 65 ราย แยกเป็นของไทยเอชฯ จำนวน 15 ราย วงเงิน 1-5 หมื่นบาทต่อราย ส่วนเงินสดทันใจ 50 ราย วงเงิน 1 หมื่นบาทต่อราย
“คงต้องยอมรับว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์อาจยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะยังมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ระมัดระวังการให้สินเชื่อด้วยเช่นกัน”
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นจากต้นปีอยู่ที่ 1.73% เพิ่มเป็น 2% ในปัจจุบัน โดยภาพรวมการผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อรากหญ้า ส่วนสินเชื่อสวัสดิการ เช่น สินเชื่อครู ยังมียอดเอ็นพีแอลไม่ถึง 1% ซึ่งปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี และเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในเดือน พ.ค.-มิ.ย. คาดว่าทั้งปีธนาคารจะพยายามลดหนี้เอ็นพีแอลให้เหลือ 1.5-1.7%
ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยยืดระยะเวลาชำระหนี้ งดคิดเงินต้นแต่ให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย โดยที่ไม่ถูกจัดชั้นหนี้เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งตั้งแต่เปิดโครงการ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าเมื่อปิดโครงการในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จะมีลูกค้าเข้าโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า งานมหกรรมแบงก์รัฐเพื่อประชาชน ภายใต้แนวคิด “ช่วยชาติ ช่วยคน ช่วยเศรษฐกิจไทย” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-28 มิ.ย.นี้ ใน 5 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 1.4 แสนคน โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และนาโนไฟแนนซ์ที่เข้าร่วมในงานกว่า 20 ราย คาดว่าจะมียอดเงินฝากรวมกว่า 5 พันล้านบาท และยอดสินเชื่อเพื่อรายย่อยรวมมากกว่า 8 พันล้านบาท และคาดว่าสถาบันการเงินของรัฐจะมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นราย