xs
xsm
sm
md
lg

สั่งศึกษารายละเอียดหนี้ภาคครัวเรือนโด่ง ธปท. คาด กม.ห้ามโขกดอกเกิน 15% ไม่แตะถึงบัตรเครดิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ ธปท. สั่งศึกษารายละเอียดหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูงเกิน 85.9% ของจีดีพี ยอมรับเป็นห่วงกลุ่มมีรายได้น้อยเพราะมีความเสี่ยงก่อหนี้เพิ่ม ชี้การแก้ไข พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกิน 15% ไม่มีผลต่อดอกเบี้ยบัตรเครดิต เนื่องจากใช้กฎหมายพิเศษดูแล คาดแต่ต้องการเล่นงานกลุ่มนอกระบบ

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท. เปิดเผยว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.สั่งให้ ธปท.ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถการชำระหนี้ของผู้บริโภคตามกลุ่มรายได้ หลังจากระดับหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2557 สูงถึงร้อยละ 85.9 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และศึกษาผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวม

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ธปท. เป็นห่วงกลุ่มผู้ที่รายได้น้อยที่มีโอกาสก่อหนี้สูง และถูกกระทบได้ง่าย เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรต่ำลง และกระทบต่อความสามารถในการหารายได้ ส่งผลให้ภาระต่อหนี้ครัวเรือนเกินร้อยละ 40 ซึ่งจะกระทบทำให้การกู้เงินจากสถาบันการเงินยากมากขึ้น

ดังนั้น หากทาง ธปท. ศึกษามากกว่านี้จะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินภาคครัวเรือน และดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนได้ตรงจุดซึ่งจะช่วยให้ระดับหนี้ลดลงได้ เพราะปัจจุบันหลายฝ่ายมองภาพรวมของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มีความวิตกกังวลต่อปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหนี้ภาคครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 2558 ที่จะประกาศเร็วๆ นี้น่าจะอยู่ในระดับที่ทรงตัว หรือมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง ดูได้จากภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวต่ำ และประชาชนระมัดระวังการก่อหนี้มากขึ้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากประชาชนที่มีรายได้ไม่จับจ่ายเพราะยังมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดย ธปท.ยังติดตามการลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

นายจิรเทพ ย้ำว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน คือ การเพิ่มรายได้ และสร้างวินัยการใช้เงินของประชาชน และไม่ควรมีมาตรการที่กระตุ้นการก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.พยายามให้ความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการให้เข้มข้นมากขึ้น

ด้าน นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 โดยห้ามสถาบันการเงินเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 นั้น ธปท.ยังไม่ได้เห็นรายละเอียดของ พ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยเบื้องต้นประเมินว่า ไม่มีผลกระทบต่อสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากมีกฎหมายพิเศษกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วคือ สูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 และใช้กฎหมาย ปว.58 ดูแลผู้ประกอบการนอนแบงก์

ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกินร้อยละ 35 ซึ่งคาดว่า พ.ร.บ.ควบคุมอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะเน้นไปที่การควบคุมอัตราดอกเบี้ยนอกระบบมากกว่า

ส่วนการออกประกาศ ธปท. เรื่อหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรงนั้น เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดจะสามารถปรับตัวได้ และไม่มีผลต่อต้นทุนของธนาคาร เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ และมีระยะเวลาถึง 5 ปีในการปรับตัว
เมืองไทย ลิสซิ่ง ลุยปล่อยกู้สิงห์นักบิด-นาโนไฟแนนซ์-ออกออกตั๋วบี/อี 700 ล.ต้นทุนต่ำ
เมืองไทย ลิสซิ่ง ลุยปล่อยกู้สิงห์นักบิด-นาโนไฟแนนซ์-ออกออกตั๋วบี/อี 700 ล.ต้นทุนต่ำ
เมืองไทย ลิสซิ่ง เปิดเกมรุกในช่วงครึ่งปีหลัง เดินหน้าปล่อยกู้สิงห์นักบิด นาโนไฟแนนซ์ มั่นใจยอดปล่อยสินเชื่อทะลุ 1.65 หมื่นล้านบาท ด้านผู้บริหาร “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” พร้อมเปิดฉากปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ หลังแบงก์ชาติ คลังไฟเขียว ตั้งเป้าเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท คิดดอกถูกแค่ 29.50% หวังช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่คนในระดับรากหญ้า แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ สบช่องดอกเบี้ยขาลง! ตุนเงินทุนเอาไว้ด้วยการออกตั๋วบี/อี 700 ล้านบาท เสียงตอบรับจากนักลงทุนสถาบันท่วมท้น ต้นทุนเฉลี่ยแค่ 3.80% หนุนมาร์จิ้นขยับ ผลักดันรายได้ และกำไรในช่วงครึ่งปีหลังพุ่งกระฉูด
กำลังโหลดความคิดเห็น