xs
xsm
sm
md
lg

“IAA” ฟันธง SET INDEX สิ้นปีนี้เหลือ 1,612 จุด GDP หดเหลือ 3.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางภรณี ทองเย็น อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analysts Association :IAA)
อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เผยผลสำรวจนักวิเคราะห์ ผู้ลงทุนสถาบันบางส่วนลดเป้าดัชนีฯ สิ้นปีนี้ลง 58 จุด แตะ 1,612 จุด หรือ 3.5% จากครั้งก่อนที่คาดการณ์ไว้ 1,670 จุด คาด GDP ปีนี้โต 3.2% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดโต 3.8% แนะลดพอร์ตลงทุนหุ้นเหลือ 42.5% ของพอร์ตรวมจาก 46% ในครั้งก่อน และให้เพิ่มพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้แทน แนะเลือกลงทุนหุ้นพื้นฐานแกร่ง ปันผลดีเช่น ADVANC KBANK KTB SCC THCOM

นางภรณี ทองเย็น อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analysts Association : IAA) เปิดเผยผลสํารวจความเห็นของนักวิเคราะห์ และผู้ลงทุนสถาบันบางส่วน และแนวโน้มการลงทุน ซึ่งประกอบด้วย ตลาดหุ้น ตลาดทองคำ ตลาดน้ำมัน ตลาดตราสารหนี้ รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมคำแนะนำในการลงทุน โดยคาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2558 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,519 จุด โดยเทียบกับล่าสุดอยู่ที่ 1,523 จุด และคาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 1,612 จุด ในช่วงสิ้นปี 2558 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมา (มกราคม 2558) ซึ่งคาดว่าดัชนี SET INDEX สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 1,670 จุด หรือลดลง 58 จุด คิดเป็นร้อยละ 3.5 จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า และในสิ้นปี 2559 คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นจะอยู่ที่ 1,707 จุด ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ผ่านมาที่ 1,804 จุด หรือลดลง 97 จุด หรือลดลงร้อยละ 5.4 จากประมาณการครั้งก่อน

ขณะที่ดัชนี SET INDEX ที่เป็นจุดสูงสุดของปี 2558 คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,662 จุด ต่ำกว่าที่คาดครั้งที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 1,728 จุด (ลดลง 66 จุด หรือร้อยละ 3.8) แต่สำหรับจุดต่ำสุดปี 2558 อยู่ที่เฉลี่ย 1,423 จุด สูงขึ้นเล็กน้อยจากคาดการณ์เดิมที่ 1,390 จุด เพิ่มขึ้น 33 จุด หรือร้อยละ 2.4

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดที่เป็นปัจจัยบวก คือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และสภาพคล่องในตลาดเงิน ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดในเชิงลบ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักต่อปัจจัยการเมืองในประเทศมากถึง 83.3% ขณะที่กำไรต่อหุ้นของตลาดในปี 2558 และปี 2559 อยู่ที่ 96.8 บาท (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 107.0 บาท) และ 109.5 บาท มีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ปี 58 อยู่ที่เฉลี่ย 22.1% สูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 15.0% สำหรับปี 59 คาดว่าอยู่ที่เฉลี่ย 13.0%

“กลุ่มธุรกิจที่มี EPS Growth เติบโตสูงสุดในปี 2558 คือ กลุ่มปิโตรเคมี 88.12% และรองลงมาคือ กลุ่มพลังงาน 72.66% ขณะที่ในปี 2559 กลุ่มธุรกิจที่ EPS Growth จะเติบโตสูงสุดคือ กลุ่มอาหาร 18.01% รองลงมาคือ กลุ่มปิโตรเคมี 14.24% โดยกลุ่มที่คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) มากที่สุดทั้งในปี 2558 และปี 2559 คือ กลุ่มสื่อสาร 4.89% และ 5.71% ตามลำดับ”

ทั้งนี้ นักกลยุทธ์การลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ลงทุนสถาบันได้แนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นเหลือ 42.5% ของเงินลงทุนรวมจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 46% ในการสำรวจครั้งที่แล้ว โดยแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนในตราสารหนี้เป็น 17.6% จากเดิม 14% ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อน คือ 19.8% 20.5% ในครั้งก่อน และเพิ่มการลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส 6.7% จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 6.5% ในครั้งก่อน และเงินสดรวมถึงเงินฝาก 11.8% จาก 11% ในครั้งก่อน

อย่างไรก็ดี ยังแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผลสม่ำเสมอ มีกระแสเงินสดมั่นคง โดยทยอยซื้อสะสมเมื่อราคาปรับตัวลดลง ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน โดยพิจารณาทั้งผลประกอบการ และธรรมาภิบาล โดยหุ้นที่มีความโดดเด่นเช่น ADVANC, KBANK, KTB, SCC, THCOM
 
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ และผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ร้อยละ 81.82 มองว่า ตลาดทองคำมีแนวโน้มทรงตัว โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2558 ราคาทองคำจะอยู่ที่เฉลี่ย 19,506 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมาเล็กน้อย หรือ 3% และ ณ สิ้นปี 2559 ราคาจะอยู่ที่เฉลี่ย 20,454 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิม 2.9% โดยมีปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อราคาทองคำมากที่สุด คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 73.9 รองลงมา คือ มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป โดยมีผู้ตอบมากสุดร้อยละ 69.6    

นอกจากนี้ ในส่วนของแนวโน้มด้านราคาน้ำมันคาดว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มขึ้นมากกว่าลง โดยประเมินว่าตลาดน้ำมันจะมีแนวโน้มขึ้นถึงแกว่งตัวขึ้น และอัตราใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 42.86 คาดว่าทรงตัว และมีเพียงร้อยละ 9.52% ที่มองว่าแกว่งตัวลง โดยมีเหตุผลสนับสนุนสำคัญ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 73.7 นอกจากนี้สมมติฐานในการประเมินดัชนี นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ปี 2558 จะอยู่ที่เฉลี่ย 3.2% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.8% แต่ปี 2559 จะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่เฉลี่ย 3.8%   
 
กำลังโหลดความคิดเห็น