xs
xsm
sm
md
lg

ไตรมาสแรกปี 58 เอกชนออกหุ้นกู้ 8.24 หมื่นล้าน เผยบริษัทขนาดกลางแห่ระดมทุนคึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมตลาดตราสารหนี้ เผยไตรมาสแรกปี 58 เอกชนออกหุ้นกู้ 8.24 หมื่นล้าน ลดลง 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระยะสั้น และระยะยาวสูงถึง 158 บริษัท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงทิศทางใหม่ในการในการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทขนาดกลางสามารถเข้าถึงการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกมูลค่าการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวเท่ากับ 82,400 ล้านบาท ลดลง 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 130,739 ล้านบาท แต่จำนวนผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนสูงถึง 43 บริษัท เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผู้ออกตราสารหนี้ระยะยาวรวม 30 ราย โดยเป็นผู้ออกรายใหม่สูงถึง 7 ราย ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นมียอดการออกตราสารหนี้รวม 1.64 แสนล้านบาท

“ในไตรมาสแรกของปี 58 มีผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระยะสั้น และระยะยาวสูงถึง 158 บริษัท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงทิศทางใหม่ในการในการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทขนาดกลางสามารถเข้าถึงการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น”

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาสแรก มีมูลค่าคงค้างโดยรวมเท่ากับ 9.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2557 โดยมูลค่าคงค้างของพันธบัตรภาครัฐ (ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ปท. และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ) เพิ่มขึ้น 2.1% มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว เพิ่มขึ้น 2.2% ส่วนมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น ลดลง 27%

ด้านกระแสเงินทุนต่างชาติในช่วงไตรมาสแรก พบว่า เงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ลดลง 7.15 พันล้านบาท จากสิ้นปี 57 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค. นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่า 6.76 แสนล้านบาท ลดลง 1.05% จาก 6.83 แสนล้านบาทในปี 57

ด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นเดือน มี.ค. พบว่า Yield ของพันธบัตรระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลงประมาณ 28 basis point ตามการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (จาก 2.0% เป็น 1.75% เมื่อวันที่ 11 มี.ค.) ขณะที่ Yield ของพันธบัตรระยะยาว (อายุคงเหลือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) ปรับตัวลดลงช่วงประมาณ 10-25 basis point เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในต่างประเทศ เช่น การใช้มาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป หรือการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ฯลฯ

ขณะที่แนวโน้มในช่วงถัดไป คาดว่าภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางจะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ประกอบกับภาคเอกชนมีความต้องการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการระดมทุนเพื่อรองรับการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น

นายธาดา กล่าวว่า ไม่กังวลหากสหรัฐฯ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย และเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตราสารหนี้ไทย เนื่องจากเชื่อว่าภาครัฐฯ จะมีมาตรการในการรับมือ

นายธาดา กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอาจจะเป็นผลกระทบต่อเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสหรัฐฯ มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจริงทางภาครัฐฯ ก็จะเข้ามาช่วยดูแลได้ เพราะสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในตราสารหนี้ไทยเพียง 10% เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น