“ก.ล.ต.” มั่นใจปี 58 มูลค่าระดมทุนไอพีโอ และการออกหุ้นกู้ของเอกชนไทย ยังครองแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียน คาดบริษัทเอกชนออกหุ้นกู้แตะ 6 แสนล้าน ด้านเอ็มดี ThaiBMA เชิญชวนภาคธุรกิจระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ร่วมกับ ThaiBMA จัดทำโครงการ “หุ้นกู้น้องใหม่ ก้าวแรกที่ก้าวไกล" สนับสนุนภาคเอกชนระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยออกตราสารหนี้มาก่อน ปัจจุบันภาคเอกชนนิยมระดมทุนผ่านตราสารหนี้มากขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากการสำรวจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พบว่า บลจ. มีการออกและเสนอขายกองทุนสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย (กองทุน AI) ที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องการหุ้นกู้ของผู้ประกอบการรายใหม่และจำนวนมากขึ้นเพื่อการลงทุน
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ส่งเสริมให้กิจการมีทางเลือกการระดมทุนผ่านตลาดทุนที่หลากหลาย การระดมทุนโดยตราสารหนี้มีส่วนช่วยปรับโครงสร้างเงินทุนของกิจการให้มีต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น และมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศให้มีการกระจายของแหล่งเงินทุน ตราสารหนี้มีเงื่อนไขการออกและเสนอขายที่น้อยกว่าการออกเสนอขายหุ้นสามัญ มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กว่า 300 บริษัท และบริษัทที่อยู่นอกตลาดและมีศักยภาพจำนวนมากที่ยังไม่เคยออกตราสารหนี้
ดังนั้น โครงการนี้จึงมุ่งให้บริษัทที่เหล่านี้เห็นประโยชน์และเข้าใจ และใช้ตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ในการบริหารการเงินของกิจการต่อไป ขณะที่ ก.ล.ต. ได้ปรับขั้นตอนการออกและเสนอขายตราสารหนี้ให้มีความสะดวกมากขึ้น ปรับปรุงเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมเพื่อลงทุนในหุ้นกู้ ได้สะดวกและหลากหลายยิ่งขึ้น
นายวรพล ยังคาดหวังว่า ในปีนี้ ไทยจะสามารถรักษาแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียน ทางด้านมูลค่าการระดมทุนเสนอขายหุ้น IPO และมูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้ หลังคาดจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งทาง ก.ล.ต.กำลังจะออกเกณฑ์ในการให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดแรกได้ และหวังว่ามีบริษัทเอกชนไทยมีการออกหุ้นกู้มากขึ้น
“ตลาดทุนไทยมีมูลค่าการระดมทุนของหุ้น IPO เป็นอันดับ 1 ในอาเซียนติดต่อมา 2 ปีแล้วและกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 โดยหวังว่าปีนี้จะสามารถรักษาแชมป์อันดับ 1 ได้ ขณะที่มูลค่าการออกหุ้นกู้ก็มากที่สุดอันดับ 1 ในอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เช่นกัน และหวังว่าปีนี้จะรักษาอันดับ 1 ไว้ได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ ก.ล.ต. คาดว่า ปีนี้บริษัทเอกชนไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการออกหุ้นกู้ปีนี้ 6 แสนล้านบาท เพิ่มอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาทจากปี 2557 ที่มีมูลค่า 5.53 แสนล้านบาท เนื่องจาก ก.ล.ต.ได้มีการจัดโครงการหุ้นกู้น้องใหม่ ก้าวแรกที่ก้าวไกล เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตราสารหนี้มากขึ้น
โดยจะมีการให้ความรู้แก่บริษัทต่างๆ ให้หันมาระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ จากที่ผ่านมา บริษัทจำนวนมากไม่รู้จักช่องทางการระดมทุนทางนี้ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ร่วมกับสมาคมตราสารหนี้ไทยในการดำเนินโครงการดังกล่าว และสมาคมตราสารหนี้ไทยจะมีการปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ระยะยาว
สำหรับผู้ออกรายใหม่ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2558 โดยยกเว้นค่ายื่นคำขอจำนวน 20,000 บาท และลดค่าบริการรายปี 10,000 บาท/ปี โดยมีระยะเวลาการปรับลดค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการจนถึง 30 ธ.ค.2558
ล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมที่จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF) มูลค่าประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อระดมทุนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
ด้านนายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 ภาคเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงถึง 553,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 32 จากปี 2556 โดยมีจำนวนผู้ออกหุ้นกู้รายใหม่สูงถึง 24 ราย ในขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นมีการออกสูงถึง 1,184,850 ล้านบาท มีผู้ออกรายใหม่ 56 ราย แต่ผู้ออกหุ้นกู้ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มธุรกิจหลักไม่กี่กลุ่ม และบริษัทขนาดกลางและเล็กยังออกหุ้นกู้ค่อนข้างน้อย ปัจจุบันมีปัจจัยเอื้อต่อการเติบโตของหุ้นกู้ภาคเอกชน ได้แก่ สภาพแวดล้อมปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แนวโน้มอนาคตที่สถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชน และการออกหุ้นกู้ของบริษัทมีขนาดเล็กลง แต่มีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้น
ในโอกาสนี้ ThaiBMA ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการ “หุ้นกู้น้องใหม่ ก้าวแรกที่ก้าวไกล” เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้มากขึ้น โดยคณะกรรมการของ ThaiBMA ได้มีมติอนุมัติให้ปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ระยะยาวสำหรับผู้ออกรายใหม่ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2558 โดยยกเว้นค่ายื่นคำขอจำนวน 20,000 บาท และลดค่าบริการรายปี 10,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ มีระยะเวลาการปรับลดค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการจนถึง 30 ธันวาคม 2558