โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
สวัสดีครับ การประชุม กนง.ครั้งล่าสุดในวันที่ 29 เม.ย. 58 ที่ผ่านมา กนง.ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาดอีกครั้ง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาสู่ระดับ 1.50% จากระดับ 1.75% หลังจากเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในการประชุมครั้งก่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังชะลอลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะภาคการส่งออก ขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐเองก็ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้าเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผมมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว นอกจากในเรื่องของความตั้งใจที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยแล้วนั้น อีกหนึ่งอานิสงส์สำคัญจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ได้แก่ ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนไทยที่น่าจะอ่อนค่าลงหลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้นในอนาคตจากราคาสินค้าที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวจะเป็นการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและผู้ลงทุนให้เพิ่มขึ้นจากการที่ทางการไทยได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
ในเชิงของการลงทุน ผมมองว่าในส่วนของตลาดหุ้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อ Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยแต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเริ่มกลับมากังวลและติดตามเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ตัวเลขที่ผ่านมาปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกที่ยังคงหดตัวลงและการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังต่ำกว่าที่คาด
โดยมองว่า SET Index ในช่วงระยะสั้นนี้มีโอกาสเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway ภายในกรอบ 1,480-1,550 จุดจากอานิสงส์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออกจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยเฉพาะการส่งออกในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์หลังจากที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งกลุ่มเช่าซื้อ (Leasing) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Property) จากต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับลดลงเป็นหลัก
ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว คาดว่า SET Index น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อและมีโอกาสทดสอบที่ระดับ 1,650 จุดได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้จากปัจจัยพื้นฐานที่น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2558 แต่ทั้งนี้ ดัชนีฯ จะเคลื่อนไหวได้มากน้อยและรวดเร็วเพียงไรนั้นคงต้องให้น้ำหนักกับภาครัฐในการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนเพื่อดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาได้เป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ
ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 58 ที่ผ่านมามีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำเช่นเดิม และส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป โดยน่าจะปรับขึ้นอย่างเร็วสุดในช่วงไตรมาสที่ 3/58 ก็ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้เช่นกัน
สำหรับในส่วนของตราสารหนี้ มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดแต่มีโอกาสปรับลดลงในขอบเขตที่จำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากตลาดคาดว่า กนง.จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกจนถึงช่วงสิ้นปีนี้
หากเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งอาจมีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่เข้ามาซื้อก่อนหน้าเพื่อเก็งกำไรหลังคาดการณ์ว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาและทำกำไรจากค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงถัดไป แต่ด้วยการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าจะช่วยลดทอนแรงขายพันธบัตรฯ ของนักลงทุนต่างชาติได้ และทำให้ราคาพันธบัตรฯ ไม่ได้ปรับตัวผันผวนมากนัก
จากมุมมองของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ดังกล่าว ทำให้ผมมองว่าในส่วนของตลาดหุ้นนั้นนักลงทุนยังคงทยอยลงทุนได้ โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาว อย่างเช่น การลงทุนในส่วนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อลงทุนในช่วงที่หุ้นย่อตัวลง เนื่องจากยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไปครับ
ขณะที่ตราสารหนี้นั้นยังคงแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกองทุนประเภทตราสารหนี้ที่มีลักษณะ Term Fund ที่มีรอบระยะเวลาการลงทุนในช่วง 3-6 เดือน ซึ่งกองทุนจะถือครองตราสารจนครบอายุที่ลงทุนและมีอัตราผลตอบแทนตามประมาณการค่อนข้างแน่นอน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการปรับตัวของราคาพันธบัตรรัฐบาลหากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต
•ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน