xs
xsm
sm
md
lg

เงินนอกไหลออกบอนด์ไทย ทิศทางดอกเบี้ยยังแกว่งตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 สมาคมตราสารหนี้เผย ไตรมาสแรกตลาดตราสารหนี้ยังโตแม้มีเงินไหลออกจากการลดดอกเบี้ยและปัจจัยต่างประเทศ มองทิศทางดอกเบี้ยมีแนวโน้มแกว่งตัวประเทศในโลกที่มีนโยบายดอกเบี้ยต่างกัน แนะรัฐวางมาตรการรองรับผลกระทบ

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มียอดคงค้างของอยู่ที่ 9.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 9.29 ล้านล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าคงค้างในพันธบัตรภาครัฐ (พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ) เพิ่มขึ้น 2.1% โดยมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้น 4 หมื่นบาท หรือคิดเป็น2.2% ขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นลดลง 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 27% ทั้งนี้ ซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมีมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 82390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%
    
ด้านตราสารหนี้ภาคเอกชนในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เอกชนระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวมูลค่า 82,400 ล้านบาท ลดลงมากถึง 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 130,739 ล้านบาท แต่พบว่าจำนวนบริษัทผู้ออกสูงถึง 43 บริษัท เพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ออกรายใหม่ 7 ราย ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นมียอดการออก 1.64 แสนล้านบาท จากผู้ออกรวม 115 บริษัท เป็นบริษัทผู้ออกรายใหม่ 16 บริษัท สะท้อนให้เห็นถึงการโตของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีบริษัทขนาดกลางเข้ามาระดมทุนเพิ่มมากขึ้น
    
สำหรับกระแสเงินทุนต่างชาติ ในช่วงไตรมาสแรกพบว่ามีเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยลดลง 7,150 ล้านบาท จากสิ้นปี 2557 โดยมีเงินไหลออกในตราสารหนี้ระยะสั้น 7,242 ล้านบาท และมีเงินไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะยาว 83 ล้านบาท เนื่องจากมีความกังวลในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค. นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวม 676285 ล้านบาท ลดลง 1.05% จากสิ้นปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 683,444 ล้านบาท
    
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับสิ้นปี 2557 ผลตอบแทนในตราสารหนี้ระยะสั้นอายุน้อยกว่า 1 ปีลดลง 28 เบสิสพอยต์ ตามการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปปรับลดลงในช่วงประมาณ 10-25 เบสิสพอยต์ จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในต่างประเทศ
    
นายธาดา กล่าวว่า ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยไทยในระยะจากนี้คาดการณ์ได้ยาก เพราะหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นนโยบายดอกเบี้ยที่ต่างกันจึงอาจทำให้ทิศทางของดอกเบี้ยแกว่งตัวผันผวน  โดยมองว่าทางเฟดกำลังดูไปที่ตัวเลขการส่งออกและค่าเงินดอลลาร์ที่จะแข็งค่าขึ้นหลังขึ้นดอกเบี้ยซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวลงอีก ในส่วนของประเทศไทยเองควรมีมาตรการในการรับมือในเรื่องความผันผวนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น