กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเหลือขยายตัวร้อยจากร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.7 ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 0.7 และ 3.7 ขณะที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.2 พร้อมจับตามาตรการดูแลค่าเงินบาทของแบงก์ชาติ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง สาเหตุจากการส่งออกชะลอตัว แต่ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากนักท่องเที่ยวเชื่อมั่นต่อการเมืองในประเทศ ขณะที่การใช่จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ และการสร้างถนนในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้ร้อยละ 0.2 ตัวเลขการส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 0.2 จากราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกินดุลร้อยละ 4.6 ของจีดีพี จึงต้องรอลุ้นมาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็วๆ นี้ว่าจะดูแลการส่งออกให้ขยายตัวดีขึ้นอย่างไรบ้าง
นายกฤษฎา กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรกยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 0.6 สอดคล้องต่อยอดการจำหน่ายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 9.7 และการลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยปัจจัยเสี่ยงยังน่ากังวลตัวเลขการส่งออก เพราะยังหดตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรก จึงต้องติดตามความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความผันผวนของค่าเงินบาทจากเงินทุนเคลื่อนย้าย และแนวโน้มของราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าเกษตรลดลง
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 3.76 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ย 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจับตาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยกระทรวงการคลัง ยังคงประมาณการไว้ร้อยละ 1.75 ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีคาดว่ามากกว่า 29.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.6 ทั้งปี หลังจากนักท่องเที่ยวไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 23.5 จึงต้องติดตามนโยบายภาครัฐในการดูแลเศรษกิจปีนี้