xs
xsm
sm
md
lg

“ธปท.” ชี้ ศก. Q1/58 ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง เผยการประชุม กนง. วันที่ 29 เม.ย.นี้ เน้นข้อมูลรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“แบงก์ชาติ” ชี้ เศรษฐกิจไตรมาส 1 ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง ห่วงการส่งออกมีความเสี่ยงโตต่ำกว่า 0.8% มากขึ้น แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก หากเทียบแบบ QoQ เนื่องจากรัฐบาลมีการเร่งรัดการลงทุนมากขึ้น และภาคการส่งออกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ลั่นต้องการดูข้อมูลเดือน มี.ค. และของหน่วยงานอื่น ก่อนนำเข้าหารือในการประชุม กนง. วันที่ 29 เม.ย.นี้

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2558 ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยในประมาณการล่าสุดเดือนมีนาคม ธปท. คาดว่าจีดีพี ทั้งปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.8

ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. คาดการณ์ว่า จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนนั้น (YoY ) ธปท.คงต้องรอรายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมก่อน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยยอมรับว่าหากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ออกมาต่ำกว่าร้อยละ 4 จะทำให้ตัวเลข จีดีพี ไตรมาส 1 เมื่อเทียบแบบรายไตรมาส ( QoQ ) ติดลบ สะท้อนว่าการฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็ง แต่เชื่อว่าจีดีพีในไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก เนื่องจากรัฐบาลมีการเร่งรัดการลงทุนมากขึ้น และภาคการส่งออกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่การส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 0.8 หรือ อาจจะหดตัวได้ เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มเติมหลังจากที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ขีดเส้นตายให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงภายใน 6 เดือน โดยหากไทยไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะตัดการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย โดยมองว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลแต่เชื่อว่ารัฐบาลไทยกำลังดูแลอยู่และคงจะสามารถจัดการได้

ทั้งนี้ หากอียูตัดสินค้าประมงของไทยจริงก็จะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั่วโลกของไทย 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบกับสินค้าประมงแปรรูป ซึ่งส่งออกไปยังอียู 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงแปรรูปทั้งหมด 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงเดือนเมษายนพบว่า กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตร 492 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไหลเข้าตลาดหุ้น 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างวันที่ 1-20 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าเงินสกุลภูมิภาคหลังจากที่คณะกรรมการ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาร้อยละ 1 ใกล้เคียงกับเงินหยวนของจีนส่วนเงินอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.2 มาเลเซียแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.6 และสิงคโปร์แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.8
กำลังโหลดความคิดเห็น