xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ห่วงส่งออกติดลบยาวต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน แนะจับตา Q2 หาก ศก.ไม่ฟื้น จีดีพีอาจโตต่ำกว่า 3.8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท. ยอมรับ ห่วงการส่งออกปีนี้อาจไม่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หากมูลค่าส่งออกน้อยกว่า 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน พร้อมระบุ จีดีพีของไทยปีนี้อาจโตต่ำกว่าร้อยละ 3.8 หากไตรมาส 2 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มป่วยมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2549 โดยอัตราการขยายตัวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และภัยธรรมชาติ ซึ่งทำให้การลงทุนก็ปรับตัวลงตามไปด้วย โดยต้องจับตาเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะเป็นช่วงไฮซีซันของการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปีนี้จึงจะโตได้ร้อยละ 0.8 แต่หากมูลค่าการส่งออกไทยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปีนี้จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อย่างแน่นอน ซึ่งหากการส่งออกติดลบและเศรษฐกิจไตรมาส 2 ไม่ฟื้นตัว อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะโตต่ำกว่าร้อยละ 3.8 แต่ ธปท. ยังเชื่อว่าการส่งออกและจีดีพีปีนี้ ยังมีความหวังที่จะขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ หรืออย่างน้อยจีดีพีปีนี้ก็มีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 หากจีดีพีทุกไตรมาสไม่ขยายตัวเลย เนื่องจากจีดีพีปีก่อนโตค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นภาวะเงินฝืดโดยในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ธปท.จะมีการปรับประมาณการจีดีพีใหม่อีกครั้ง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคือการลงทุนและการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งปีนี้ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ร้อยละ 8 ซึ่งจะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในปี 2559-2560 ดังนั้น หากรัฐบาลลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้จะทำให้เอกชนลงทุนตาม ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่หมดความหวังสามารถจะขยายตัวกลับมาได้

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งถือว่าไม่ได้แข็งค่ามาก แต่ประเทศในภูมิภาคต่างๆ อ่อนค่าลง โดยอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 2-4 เช่น อินโดนีเซียอ่อนค่าลงร้อยละ 4 /มาเลเซียอ่อนค่าร้อยละ 3.6 /สิงคโปร์อ่อนค่าร้อยละ 2.5 ซึ่งก็ยอมรับว่าผลจากที่เงินบาทแข็งค่ากระทบการส่งออกบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และตลาดหลักของไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เช่น ตะวันออกกลาง ดังนั้น จึงต้องมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น CLMV
กำลังโหลดความคิดเห็น