นายกสมาคมบ้านจัดสรร เชื่ออสังหาฯ ปี 58 โตกว่าปี 57 แน่ จากแนวโน้มดอกเบี้ยลด เดินหน้าโครงการรัฐ เผยไตรมาสแรกตลาดต่างจังหวัดชะลอตัว บ้านจัดสรร -5% คอนโดฯ -15% เหตุราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แนะผู้ประกอบการระมัดระวัง ขณะที่ตลาด กทม.-ปริมณฑล ยังโต
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสแรกตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเติบโตได้ แต่สำหรับตลาดต่างจังหวัดน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่ติดลบประมาณ 15% ขณะที่บ้านจัดสรร ติดลบประมาณ 5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลงอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันส่งผลกระทบไปในทุกธุรกิจอื่นด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ลงทุนในต่างจังหวัดควรพิจารณาให้รอบคอบ หากยังไม่ลงทุนควรชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ แต่หากลงทุนไปแล้วไม่ควรโหมก่อสร้างให้มากเกินไป ควรสร้างให้สมดุลต่อการขาย
“เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักทำให้กำลังซื้อของคนต่างจังหวัดลดลง ประชาชนก็ไม่ซื้อของ หรือซื้อน้อยลง ไม่เฉพาะบ้านเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสินค้าประเภทอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดคือ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ที่ก่อนหน้านี้ยอดขายตก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการยึดรถกันแล้ว” นายอธิป กล่าว
นอกจากนี้ ตลาดบ้านพักตากอากาศเป็นอีกตลาดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เมื่อเกิดภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจผู้บริโภคจะชะลอการซื้อบ้านตากอากาศก่อน เพราะเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ 3 เป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงไตรมาสแรกยังมีการเติบโตทั้งบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ มีเงินเดือนเท่าเดิม เพียงแต่เกิดความกังวลถึงรายได้ในอนาคตเท่านั้น
นายอธิป กล่าวเพิ่มว่า แม้ว่าตลาดต่างจังหวัดจะชะลอตัว แต่เชื่อว่าภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ในปีนี้จะยังเติบโต ไม่เป็นเหมือนในปีที่ผ่านมาที่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง โดยมีปัจจัยบวก คือ 1.คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาฯ ทำให้ความสามารถในการกู้เพิ่มขึ้น
2.การเดินหน้าโครงการของภาครัฐเกี่ยวกับสาธารณูปโภค รถไฟฟ้า และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งแม้ว้าจะมีการประกาศออกมาแล้ว 10 เขต แต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา จึงยังไม่มีการลงทุนจริง ซึ่งหากประกาศออกมาก็จะเกิดการลงทุนจริง และเกิดตลาดที่อยู่อาศัยตามมา ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะเป็นเพียงประกาศนโยบายของรัฐบาล แต่ราคาที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขตได้ปรับขึ้นไปรอแล้ว
สำหรับปัจจัยลบที่ต้องจับตามอง คือ ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ตัวเลขส่งออกติดลบต่อเนื่องหลายเดือน GDP ปรับลดเหลือ 2-2.5 ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีการเพิ่มความเข้มงวด ดูได้จากตัวเลขปฏิเสธสินเชื่อยังคงปกติ ส่วนต้นทุนค่าก่อสร้างยังทรงตัว แม้ว่าราคาน้ำมันลดลงก็ตาม แต่ส่งผลดีต่อค่าถมที่ ซึ่งในบางพื้นที่ที่การขนส่งไม่ไกลค่าถมที่จะลดลงราว 10% แต่ในบางพื้นที่ราคายังคงเดิม
“ผู้ประกอบการควรจับตามภาวะตลาด สถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และวางแผนธุรกิจเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทัน โดยปีนี้คาดการณ์อนาคตล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามากระทบเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาฯ หลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาฯ ยังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้” นายอธิป กล่าว