ย้อนรอยมาตรการ FED
หลังจากที่สหรัฐฯประสอบกับวิกฤตเศครษฐกิจหรือ Hamburger Crisis เมื่อปี 2550 FED ได้มีการลดดอกเบี้ยลงมาเรื่อยๆ ทำให้ดอกเบี้ยมีการลดลงจากระดับ 5% มาอยู่ที่ 0-0.5% การดำเนินมาตรการ Operation Twist ที่ขายตราสารหนี้ระยะสั้นและซื้อตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อกดให้ดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ ผนวกกับมาตรการที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในช่วงนั้น นั่นคือมาตการ QE ซึ่งเป็นการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์อย่าง ตราสารที่มีสัญญาจำนองบ้านค้ำประกัน (Mortgage Backed Securities : MBS) และพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเสริมสภาพคล่องและเร่งให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนที่จะยุติมาตรการ Operation Twist ในช่วงปี 2555 และมาตการ QE ลงในช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
ผลข้างเคียงจากชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผลของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างสุดขีดได้ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพื่อให้สภาพคล่องที่ปล่อยออกมาแทบจะล้นระบบนั้น ช่วยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นการกู้ยืมมาลงทุนหรือบริโภค จะได้ช่วยให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างนั่นเอง
ผลข้างเคียงอีกประการก็คือ การปรับตัวขึ้นอย่างพรวดพราดของสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะทองคำ ซึ่งได้รับประโยชน์ทั้งในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ต่อมาเมื่อมีการยุติมาตรการ QE ทำให้ปัจจัยหนุนราคาทองคำหมดลงไป 1 ประเด็น และประเด็นที่ถูกพูดถึงในตอนนี้ก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เหตุปัจจัยแห่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ที่มา : FED สาขา Saint Louis
จากภาพข้างต้นซึ่งเป็นปริมาณเงินประเภทที่ 2 (M2 : ธนบัตร เงินเหรียญและบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และสิ่งใกล้เคียงเงิน)ในเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ก่อนปี พ.ศ. 2551 ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 7,000 พันล้านดอลลาร์ ก่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กว่า 2 เท่ามาตลอด 5ปี ที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านๆมาโดยเฉพาะตัวเลขที่อยู่อาศัยและการจ้างงานที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนั้น สภาพคล่องที่ FED ระดมปล่อยออกมาสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ เราจึงอาจได้เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้นโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงกลางปีนี้ตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ เพื่อขจัดผลข้างเคียงเชิงลบอันเนื่องมาจากสภาพคล่องมหาศาลนี้
ที่มา : FED สาขา Saint Louis
Money Velocity เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนต่อเหตุผลที่ FED มีโอกาสรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในเร็วๆนี้ โดย Money Velocity เปรียบเสมือนตัวเลขบอกความถี่ในการเปลี่ยนมือของเงิน โดยหากตัวเลขดังกล่าวมีมาก หมายถึงปริมาณเงินในระบบเปลี่ยนมือกันบ่อย แสดงถึงความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยให้ GDP หรือผลผลิตมวลรวมในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
แต่กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนมือของเงินนั้น ยังมีกิจกรรมที่ไม่ได้เพิ่มผลผลิตมวลรวมอยู่ด้วยโดยเฉพาะการเก็งกำไร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ง่าย และจะทำให้ราคาของสินทรัพย์ปรับเพิ่มสูงขึ้นจนผิดปกติ เพิ่มโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง เมื่อดูจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นการง่ายที่จะเกิดการเก็งกำไร หากผลผลิตในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่ทันกับความต้องการใช้เงินของประชาชน จะยิ่งทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงหรือ Hyperinflation กลายเป็นว่า แทนที่สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นมาจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นกลับจะเป็นผู้ร้ายบั่นทอนให้เศรษฐกิจทรุดตัวนั่นเอง การเพิ่มต้นทุนของเงินทุนโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งที่ FED ต้องรีบดำเนินการ
ผลกระทบและเงื่อนไขของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แต่อย่างไรก็ดีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้อย่างทันท่วงที เพราะด้วยระบบเศรษฐกิจที่ชินกับดอกเบี้ยต่ำมานานกว่า4-5ปี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีอาจทำให้เศรษฐกิจเกิดอาการสะดุดได้เช่นกัน สิ่งที่ FED กำลังทำอยู่อาจเป็นการหาวิธีส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินและลดผลข้างเคียงดังกล่าวให้มากที่สุด
หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่จะถูกพูดถึงต่อก็คือการดำเนินมาตรการถอนสภาพคล่องเพื่อลดสภาพคล่องออกมาให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งถือเป็นงานยากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะหากถอนสภาพคล่องมามากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดการติดขัดได้
ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับราคาทองคำนั้น หากพิจารณาตามสภาพแล้ว ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะเห็นราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่หากการดำเนินมาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นไปได้อย่างราบเรียบ เศรษฐกิจโลกกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ราคาทองคำก็ยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ ในฐานะของสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อครับ แต่อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร