อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงต่อ กมธ.เศรษฐกิจ เห็นด้วยยกร่างรัฐธรรมนูญ หนุนแยกจัดเก็บรายได้ระดับชาติออกจากท้องถิ่น ยอมรับกังวลการแยกหน่วยจัดเก็บภาษีเป็นอิสระ
นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เชิญ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีหลายด้าน ขณะนี้ กรมสรรพากรกำลังศึกษาการลดหย่อนภาษีหลายรายการ เพราะปัจจุบันมีการลดหย่อนกว่า 20 รายการ เช่น เบี้ยประกันชีวิต, เงินซื้อกองทุน LTF, RMF และการกำหนดค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา เพราะปัจจุบันกำหนดให้บุคคลธรรมดามีรายได้ 150,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี เมื่อคำนวณรวมกับค่าลดหย่อนต่างๆ จะมีค่าลดหย่อนประมาณ 24,000 บาท เท่ากับผู้มีรายได้ 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี จึงต้องศึกษาค่าลดหย่อนต่างๆ ให้เป็นจริงมากที่สุด
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร เพราะการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเป็นผลประกอบการของปี 2557 แต่การเสียภาษีครึ่งปีหลังเดือนสิงหาคม จะสะท้อนเศรษฐกิจปีนี้มากขึ้น จึงมองว่าอาจดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยภายนอก คือ การลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร 2,000 รายการ ภาษีปิโตรเลียม และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลปีที่ผ่านมา จึงเสนอปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรจาก 1.96 ล้านล้านบาท เหลือ 1.79 ล้านล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องต่อความเป็นจริง
นายประสงค์ เห็นด้วยต่อข้อเสนอในการกำหนดร่างรัฐธรรมนูญด้วยการให้ทุกคนยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี แม้จะมีรายได้ไม่ถึงกำหนดต้องเสียภาษี เพื่อให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลการจัดเก็บภาษี โดยเป็นแบบ ภงด.แบบง่าย เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย และเห็นด้วยต่อแนวทางการแยกฐานจัดเก็บภาษีในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กังวลเกี่ยวกับการแยกงบประมาณ 2 ขา ในรัฐธรรมนูญ เพราะนอกจากกำหนด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแล้ว ยังต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.รายรับ และกำหนดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในร่างงบประมาณแต่ละปี เพื่อระบุแหล่งที่มาของเงิน ทั้งจากเงินกู้ รายได้ภาษี นำไปสู่การชำระหนี้จากโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เพราะหากกำหนดชัดเจนในรัฐธรรมนูญอาจกระทบต่อการกู้เงินสำหรับโครงการด้านสังคม เช่น สวนสัตว์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ เพราะจะไม่ได้ผลคืนเป็นเงิน แต่ได้ประโยชน์ในเรื่องความรู้ รวมถึงการสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ เพราะต้องดูแลควบคุมค่าโดยสารไม่ให้สูงมาก จึงมีรายได้ผลตอบแทนไม่สูงมาก แต่เป็นประโยชน์การเดินทางของประชาชน ความเจริญตามมาจากเส้นทางรถไฟฟ้า การไม่ต้องอยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ เพราะเดินทางไปมาสะดวก จึงทำให้การกู้เงินดังกล่าวขัดแย้งต่อผลตอบแทนเชิงตัวเลข
ส่วนข้อเสนอการแยกหน่วยงานจัดเก็บภาษีเป็นอิสระ ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เหมือนกับบางประเทศนั้น มองว่าเป็นโครงสร้างที่ดี เพราะลดการแทรกแซงทางการเมือง และกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งผู้บริหาร มีความคล่องตัวในการบริหารงาน แต่มองว่าสภาพของไทยยังไม่เหมาะต่อโครงสร้างดังกล่าว เหมือนกับนำรถสปอร์ตมาครอบไว้ในรถตุ๊กตุ๊ก จะทำให้วิ่งล่าช้า จึงควรรอไว้อีกระยะหนึ่ง ส่วนข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน การคลัง และระบบภาษีแห่งชาตินั้น มองว่าอำนาจในการกำกับดูแลเป็นของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว หากตั้งขึ้นมาอาจมีความซ้ำซ้อน และมีปัญหาแนวทางปฏิบัติได้
สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีโดยรวมเกือบถึงร้อยละ 90 ของผู้เสียภาษีทั้งหมด โดยรายได้ของบุคคลธรรมดาสูงกว่าปีก่อน 4,000-5,000 ล้านบาท เป็นการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 70 จึงแนะนำให้ประชาชนยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะจะยืดระยะเวลาออกไปอีก 8 วันทำการหลังครบกำหนดสิ้นเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากร ยังต้องเร่งรัดหาทางอุดช่องโหว่การหลีกเลี่ยงภาษีให้น้อยลง และยืนยันจะไม่มีการเสนอให้นิรโทษกรรมภาษี เพราะเคยเสนอให้นิรโทษกรรมภาษีไปแล้ว 5 ครั้ง แต่ยังมีการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล 600,000 ราย อยู่ในระบบสรรพากร 400,000 ราย อีก 200,000 ราย อยู่นอกระบบ เพราะมีการจดทะเบียนครั้งเดียวส่งออกสินค้าแล้วหายไป การขอจดทะเบียนเพื่อขอคืนภาษีเป็นเท็จ จึงมีการรั่วไหลอีกหลายด้านต้องปรับปรุง