xs
xsm
sm
md
lg

“JPM” จี้รัฐเร่งเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ หวั่น GDP หลุดเป้าเหลือ 3.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เจพี มอร์แกน เผย แนวโน้มเศรษกิจไทยอาจไม่โตตามเป้าถึง 4% หากรัฐบาลล่าช้าในการใช้จ่ายเงินลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ตามที่แถลงไว้ อาจฉุด GDP ลดต่ำลงเหลือ 3.2%

นายเบนจามิน ชาทิล นักวิเคราะห์ด้านนโยบายและเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย บมจ.เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค หรือ (NYSP:JPM) กล่าวว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มีการใช้ปริมาณน้ำมันที่ค่อนข้างสูงทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแข่งขันเพื่อส่วนแบ่งการตลาดน้ำมัน และส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดการเสียสมดุล อีกทั้งสหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญต่อเชลส์แก๊ส จึงส่งทำให้ราคาปรับตัวลดลง แต่ทั้งนี้การที่น้ำมันลดลงทำให้ได้ประโยชน์เป็นอย่างมากในแง่ของบริษัทจดทะเบียนในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถลดต้นทุนรายจ่ายในการลงทุนได้ในราคาที่ถูกลง

“ทิศทางเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่จะพิจารณาจากราคาน้ำมันเป็นหลักเนื่องจากราคาที่ปรับตัวลดลงอาจส่งผลกระทบราคาน้ำมันในแง่ที่เป็นประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เพราะอุปสงค์น้อยลงแต่อุปทานเพิ่มขึ้น ทำให้มีการผลิตน้ำมันเพิ่มเพียงพอต่อความต้องการของตลาดน้ำมันในทุกประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในตอนนี้ประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดเนื่องจากสนับสนุนการใช้เชลส์แก๊ส ขณะที่กลุ่มประเทศทวีปยุโรปและประเทศเศรษฐกิจหลักของทวีปเอเซียเช่นญี่ปุ่น ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นหลักอยู่ ทำให้ยังคงเสียเปรียบด้านพลังงานอยู่”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ และอาจสะท้อนทิศทางด้านบวกและลบต่อกลุ่มประเทศในทวีปเอเซีย ของปี 2015 ได้แก่ตัวเลขดัชนีชี้วัดการบริโภคภายในประเทศระดับครัวเรือนของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED เตรียมที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากในช่วงเวลา 6-9 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง FED จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมา

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังจะเป็นในเรื่องการเพิ่มการลงทุน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวฟื้นขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อาจส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาค  ดังนั้น ผลกระทบจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ในระยะแรก เม็ดเงินลงทุนควรจะเน้นลงทุนขนาดกลางและเล็กภายในประเทศก่อนเพื่อให้เพียงพอในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายใน

ขณะที่แนวโน้มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  (Gross Domestic Product :GDP) ในปีนี้จะโตที่ 4% ซึ่งมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวฟื้นขึ้นมา ทั้งด้านสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเครื่องดื่ม ไอที อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งดีกว่า 2 ปีที่แล้ว นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดังกล่าว จะดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ถ้าหากรัฐบาลไม่มีการใช้จ่ายภาครัฐตามที่แถลงโครงการไว้ หรือมีการเลื่อนออกไป คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นไม่ใช่เงินตามแผนไปด้วย อาจทำให้ GDP เติบโตขึ้นเพียงแค่ 3.2% เท่านั้น

ขณะที่ปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตขึ้นนั้น ยังคงอยู่ที่แผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ที่มีความต่อเนื่องในระยะยาว โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนในระยะกลางและระยะยาวมากขึ้นเพื่อสร้างฐานความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่มีความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน

“ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวตามเป้า ยังคงมาจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อการมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีพอ และการไม่สานต่อนโยบายจากโครงการเดิมที่มีอยู่ให้งานมีความต่อเนื่องไปได้ ขณะที่ความเสี่ยงประการที่ 2 คือ โครงการใหม่มีจำนวนมาก แต่ขาดความชัดเจนทำให้ไม่มีกำหนดเวลาในการดำเนินงานที่แน่นอน”

อย่างไรก็ดี ในส่วนของปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้มี 2 ประเด็นหลัก คือ พลังงานที่มีราคาปรับตัวลดลงทำให้ดัชนีค่า  HCPI ปรับตัวลดลงมา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท.  มองเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ไว้ที่ 1% ขณะที่ในปีหน้ามีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ โดยอาจปรับตัวลดลงน้อยลงกว่า 1% เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะคาดการณ์ล่วงหน้าพลาดเป้าในรอบ 15 ปี ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่ถือว่าที่เป็นกุญแจและช่องว่างที่สำคัญในการที่ ธปท.จะใช้เป็นเครื่องมือในการลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ หลังจากนี้จะต้องจับตาดูแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน และ ธปท.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับใด ขณะเดียวกันคาดว่าผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่เยอะมากนัก โดยเชื่อว่าในช่วงแรกธนาคารพาณิชย์จะไม่ปรับลดลงในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าและความเชื่อมั่น

ด้านหม่อมหลวง ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเสริมว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะการเงินทั่วโลกในขณะนี้ หลายประเทศได้มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการทางการเงินที่ตึงเครียดลงเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มมากขึ้น

“นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวในต่างประเทศมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มอาหาร เช่น TUF, CPF, CP เนื่องจากในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวต่ำลง กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องการส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นพม่า และกลุ่มประเทศ CLMV มีการเปิดกว้างให้บริษัทฯต่างๆ หลายแห่งเข้าไปลงทุน”

ในส่วนแนวโน้มการลงทุนของต่างประเทศจะเป็นไปในลักษณะการควบรวมเข้าซื้อกิจการ ( M&A) เพิ่มมากขึ้น เช่น CP และกลุ่มธุรกิจด้านพลังงานหรือคอนซูเมอร์โปรดักต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เนื่องจากมองว่าประเทศไทยในขณะนี้มีความพร้อมหลายด้าน ทั้งด้านบุคลากรที่มีความชำนาญ โรงงานที่มีความทันสมัย ประกอบกับนักลงทุนจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC และในอนาคตไทยตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น