xs
xsm
sm
md
lg

“สภาพัฒน์” เผย “จีดีพี” ไตรมาส 3 โตได้ 0.6% อุปสงค์ภายใน ความเชื่อมั่นเริ่มฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ เผยตัวเลข GDP ไตรมาส 3/57 เติบโตได้ 0.6% เนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวเพิ่มตามความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนรวมกลับมาขยายตัวตามการลงทุนของภาคเอกชน พร้อมคาดทั้งปีโตได้ 1.0% ต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.5-2.0%

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/57 ขยายตัว 0.6% เนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวเพิ่มตามความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนรวมกลับมาขยายตัวตามการลงทุนของภาคเอกชน โดยในช่วง 9 เดือนเศรษฐกิจไทยขยายตัว 0.2%

ดังนั้น จึงคาดว่าจีดีพีทั้งปีขยายตัวได้ 1% ปรับลดลงจากประมาณการ 1.5 – 2.0% ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 โดยมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 จากปัจจัย ภาคเอกขนเริ่มกลับมาลงทุนโดยการลงทุนขยายตัว 3.9% หลังจากติดลบ 4 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา เพราะได้มีการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อขยายการลงทุนเพิ่ม การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน 2.2% จากที่เคยขยายตัว 0.2% ในไตรมาส 3

สำหรับการส่งออก ไตรมาส 3 มีมูลค่า 56,934 ล้านดอลาร์สหรัฐ ลดลง 1.7% เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ จีน การส่งออกขยายตัวได้น้อย ขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรปยังต้องอัดฉีดเงินออกสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงต่อไทยให้ทำเงินบาทเทียบกับเงินเยนและอียูแข็งค่าขึ้น ยอดปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังหดตัวต่อเนื่อง 41.9% หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ต่ำกว่าเป้าหมาย

การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 20.8% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด 25.0% และอัตราเบิกจ่ายรวมทั้งปีงบประมาณอยู่ที่ 89.0% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ที่ 95.0% ส่วนการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ช้า โดยที่จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่สามลดลงมากกว่าที่คาดไว้

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.9% ของ GDP สำหรับปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปลายปีนี้ คือการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนา 4 หมื่นล้านบาท และชาวสวนยางเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะทำให้มีการใช้จ่ายของเกษตรกรเพิ่ม รวมถึงการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558 คาดว่าขยายตัว 3.5–4.5% โดยมีปัจจัยบวกสนับสนุน เช่น การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยว จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านต่างๆ การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมไปแล้วในปี 57 จะเริ่มโครงการลงทุนในปีหน้า โดยมีปัจจัยบวกมาจากแนวโน้มการลดลงของราคราน้ำมันดิบตลาดโลก จากปัจจุบันน้ำมันดิบราคา 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล

ทั้งนี้ มองว่าราคาน้ำมันจะมีโอกาสปรับลดลงได้อีก ซึ่งปกติในช่วงนี้ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นเพราะเริ่มเข้าสู่ในช่วงปลายปี เมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปถึงปีหน้า จึงส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนการเดินทางลดลง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนลงทุนเพิ่มหลายโครงการ และยังมีการปรับเพิ่มเงินข้าราชการ ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนเมษายน 2558

ส่วนค่าครองชีพจะให้มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม จึงทำให้ข้าราชการมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น การส่งออกกลับมาเริ่มดีขึ้นในปีหน้า รวมถึงยอดขายของรถยนต์จะกลับมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 4.0% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.6% และที่ 5.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1.4 – 2.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.2% ของ GDP

โดยก่อนหน้านี้ สศช.ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2557 ลงแล้ว 3 ครั้งคือ จากเดิมคาดว่าอัตราขยายตัวในปี 2557จะอยู่ที่ 3-4% ต่อมา ในการแถลงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ลดลงเหลือ 1.5-2.5% และปรับลดลงเหลือ 1.5-2.0% ในการแถลงเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนหน่วยงานอื่นมีการปรับลดลงเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้เหลือ 1.4% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 1.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น