xs
xsm
sm
md
lg

ทำไปได้ “ประกิต สิริวัฒนเกตุ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เช้าตรู่เวลา 5.00 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดได้ปรับเพิ่มขึ้นมา 50 สตางค์/ลิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิลแก๊สโซฮอล์ 95 ต้องกลับไปเกิน 27 บาท เป็น 27.40 บาท/ลิตร ต้องยอมรับว่า การประกาศขึ้นราคาครั้งนี้สร้างความตื่นตะลึงพอสมควร เพราะนอกจากจะเป็นการปรับขึ้นครั้งแรก หลังจากที่ราคาลงมาเนิ่นนานต่อเนื่องกว่า 8 เดือนแล้ว ยังเป็นการปรับขึ้นที่ตอบสนองต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบโลกที่รวดเร็วสายฟ้าแลบ เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลก เพิ่งจะฟื้นขึ้นมาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2558 และบวกต่อเนื่องอีกแค่ในวันที่ 2 ก.พ.2558 วันถัดมา 3 ก.พ.2558 ราคาขายปลีกก็มีการประกาศขึ้นราคาทันที  ความไวในการขึ้นราคาแบบนี้ต้องขอชื่นชมว่า  เร็ว แรง ทะลุนรก ชนิดที่เรียกว่าเอาทำภาพยนต์ภาคต่อของ Fast & Furious ได้สบาย

  ภาพของการขึ้นราคาขายปลีกในประเทศแบบเร็วทันใจครั้งนี้ สวนทางกับตอนปรับราคาลงชัดเจน หากยังจำกันได้ ในช่วง 8 เดือนที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาขายปลีกในประเทศกว่าจะลงตามที่ต้องใช้เวลาดูสถานการณ์อีก 5 วันทำการเป็นอย่างน้อย ด้วยเหตุผลว่า น้ำมันที่ใช้ในปัจจุบันยังคงมาจากสต๊อกน้ำมันเก่าที่ราคาสูงอยู่  ซึ่งแปลกตรงที่ว่า เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้กับตอนราคาน้ำมันตลาดโลกมีการปรับเพิ่มขึ้น ความผิดเพี้ยนของเหตุผลคงมีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น  ช่างเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจจริงๆ

สำหรับสาเหตุของการฟื้นตัวแรงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก คาดว่าจะมาจากปริมาณผลิตน้ำมันดิบ และสำเร็จรูปของโลกที่เกินความต้องการมีแนวโน้มที่ลดลง (หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันในลำดับต้นๆ ของโลก จากเทคโนโลยีชั้นหินดินดาน หรือ Shale Oil ทำให้จากที่เคยเข้าน้ำมันปีละกว่า 11 ล้านบาร์เรล ลดลงเหลือเพียงประมาณ 7 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน) เนื่องจากมีหลายปัจจัยกดดันทางด้านฝั่งผู้ผลิต  คือ

  • เริ่มจากผู้ผลิต Shale oil 37 ราย จากทั้งหมด 38 รายในสหรัฐฯ ได้เผชิญต่อปัญหาขาดสภาพทางการเงินอย่างหนัก (ส่วนทุนติดลบ) และในจำนวนนี้มี 1 รายคือ บริษัท WBH Energy LP  ได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 (ดังที่เคยนำเสนอใน Market Talk เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา) ทำให้เจ้าหนี้หลักคือ ผู้ถือหุ้นกู้ หยุดการให้กู้ยืม ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน และงบลงทุน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้องการใช้เงินลงทุนสูงในการขุดเจาะ (capital intensive) 


  • ตามมาด้วย ผลวิจัยของ Baker Hughes เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า จำนวนของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลงไปถึง 94 แห่ง หรือกว่า 7% จากสัปดาห์ก่อนหน้า เหลือ  1,223 แห่ง  เป็นการลดลงต่อเนื่อง 13 ใน 16 สัปดาห์หลังสุด และเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2556


  • ล่าสุด การประท้วงนัดหยุดงานของคนงานโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกว่า 9 แห่งในสหรัฐฯ รวมถึงอุตสาหกรรม Supply Chain ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 และมีแนวโน้มยืดเยื้อถึง 1-2 สัปดาห์ หลังจากการเจรจาขอเพิ่มค่าแรง และสวัสดิการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่เป็นผล ส่งให้บรรดาโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 10% ของประเทศ ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว


  • ล่าสุด สถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่อุตสาหกรรมนี้มากขึ้นกว่าเดิม หลังราคาน้ำมันตกต่ำกว่า 50% ยิ่งเป็นการบีบคั้นผู้ประกอบการในการระดมทุน 


นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าหลัก 6 แห่ง (DXYO)  เริ่มทรงตัวถึงแกว่งตัวในทิศทางอ่อนตัว หลังจากที่แข็งค่ากว่า 18% นับจากเดือน ก.ค.2557 จนถึงปัจจุบัน (ตรงกันข้ามกับค่าเงินยูโรอ่อนค่ากว่า 18% ในช่วงเดียวกัน) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัว     

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด 44.5  เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงปลายเดือน ม.ค.  มายืนเหนือ 50 เหรียญฯ   อีกครั้ง หรือเพิ่มขึ้น 12.35%  ในช่วง 1 สัปดาห์เศษ  

 แม้ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบจะปรับฐานแรงกว่า 8% หลังจากปรับขึ้นแรงกว่า 20% ในรอบ 4 วันติดต่อกัน จากเหตุผลการรายงานสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ สิ้นสุด 30 ม.ค. ที่ออกมามากกว่าคาด  และสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่บันทึกข้อมูลในเดือน ส.ค.2525 เป็นต้นมา  กล่าวคือ สต๊อกน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ที่ 413.06 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นถึง 6.3 ล้านบาร์เรล (เทียบกับนักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล) และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 สัปดาห์  ขณะที่พบว่าสต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล น้ำมันกลั่น รวมทั้ง Heating Oil และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.9%

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการปรับฐานระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องของปัญหาการประท้วงของคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน/โรงกลั่นน้ำมัน/ปิโตรเคมี และ  Supply Chain กว่า 63 แห่ง ของสหรัฐฯ ยังมีอยู่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 และกระทบต่อกำลังการกลั่นน้ำมันกว่า 10% ของทั้งประเทศ รวมทั้งการลดเงินลงทุนสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น British Pitroleum (BP), Exxon Mobil Corp., Chevron Corp และการลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน จึงเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบั่นทอนทำให้ปริมาณผลิตน้ำมันดิบและสำเร็จรูปส่วนเกินค่อยๆ ลดลง   ขณะที่เชื่อว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (vs สกุลคู่ค้าหลัก 6 แห่ง) น่าจะทรงกับแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่าลง  (หลังจากที่แข็งค่ากว่า 18% นับจากเดือน ก.ค.2557 จนถึงต้นปี 2558  ขณะที่ค่าเงินยูโรเริ่มฟื้นตัว หลังจากอ่อนค่ากว่า 18% นับจากลางปี 2557) ซึ่งน่าจะเป็นผลจากที่ตลาดคาดว่า FED น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด  
กำลังโหลดความคิดเห็น