เอเจนซีส์ - คาดที่ประชุมรัฐมนตรีน้ำมันขอองค์การโอเปกคืนนี้ (27 พ.ย.) จะตัดสินใจไม่ลดเพดานผลิตอย่างเป็นทางการ แต่สนับสนุนกลยุทธ์ของซาอุดีฯ ในการปักหลักสู้กับน้ำมันผลิตจากหินน้ำมันในอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดราคาน้ำมันรูดกว่า 30% ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา โดยหวังผลเป็นผู้ชนะระยะยาวเมื่อราคาน้ำมันดีดกลับ
องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 12 ชาติ กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากพวกชาติสมาชิกที่ฐานะยากจนกว่าเพื่อนๆ อย่างเวเนซุเอลาและเอควาดอร์ ให้ลดกำลังผลิตเนื่องจากภาวะราคาน้ำมันขาลงกำลังทำให้รายได้ของประเทศเหล่านี้ลดฮวบ
ทว่า ชาติสมาชิกทรงอิทธิพลจากอ่าวเปอร์เซียปฏิเสธเสียงเรียกร้องดังกล่าว เว้นแต่จะสามารถรับประหันเรื่องส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคที่กำลังมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะในอเมริกาซึ่งน้ำมันจากหินน้ำมันที่สกัดภายในประเทศกำลังออกมาท่วมตลาด และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด นอกเหนือจากการที่เศรษฐกิจในประเทศสำคัญหลายๆ แห่งอ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดลงตามไปด้วย รวมถึงการแข็งค่าของดอลลาร์
ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดี (27) ราคาน้ำมันดิบชนิดเวสต์เทกซัสอินเตอร์มิเดียต เพื่อการส่งมอบเดือนมกราคม ในตลาดนิวยอร์ก ตกลงทำสถิติต่ำสุดรอบ 4 ปีครั้งใหม่ที่ 71.89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะขยับขึ้นไปยืนที่ 72.10 ดอลลาร์ ในเวลาประมาณ 10.30 น.เวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 17.30 น.เวลาเมืองไทย) ลดลงจากราคาปิดในวันพุธ (26) 1.59 ดอลลาร์ จากการคาดการณ์ว่า โอเปกจะไม่มีมาตรการสำคัญใดๆ ออกมาระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กรุงเวียนนาในวันเดียวกัน
ส่วนสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือ ในกรุงลอนดอน วันเดียวกันก็หล่นทำสถิติต่ำสุดรอบ 4 ปีเช่นกันที่ 75.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นจึงไต่ขึ้นไปที่แถวๆ 75.87 ดอลลาร์ ต่ำกว่าราคาปิดวันพุธ 1.88 ดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ได้เตือนในรายงานที่เผยแพร่ออกมาช่วงกลางเดือนนี้ว่า ราคาน้ำมันขาลงจะยังไม่จบง่ายๆ แต่ยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า พร้อมระบุว่า เดือนที่ผ่านมา โอเปกผลิตน้ำมันออกมา 30.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) สูงกว่าเพดานอย่างเป็นทางการที่ 30 ล้านบีพีดี
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ที่ประชุมโอเปกคราวนี้จะเห็นพ้องให้ลดกำลังผลิตส่วนเกินดังกล่าว มากกว่าจะไปถึงขั้นลดเพดานการผลิตอย่างเป็นทางการลงมา
วันพุธ (26) ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียออกมาแถลงว่า พวกประเทศอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียได้บรรลุฉันทามติเกี่ยวกับมาตรการที่จำเป็นเพื่อจัดการกับระดับอุปทานของโอเปก พร้อมแสดงความหวังว่า สมาชิกชาติอื่นๆ จะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
ช่วงไม่กี่วันมานี้ อาลี อัล-ไนมิ รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีฯ กล่าวย้ำหลายครั้งว่า ตลาดน้ำมันจะ “มีเสถียรภาพด้วยตัวเอง” ในที่สุด ซึ่งมีนัยว่า โอเปกควรนิ่งเฉยรอดูสถานการณ์ไปก่อน
ฟาวัด ราซัคซาดา นักวิเคราะห์จากฟอเร็กซ์.คอม เห็นด้วยกับกลยุทธ์ของริยาด เนื่องจากหากโอเปกลดกำลังผลิต จะเท่ากับเป็นการยอมเสียส่วนแบ่งตลาดให้น้ำมันจากหินน้ำมันมากขึ้น จึงไม่ถือเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อชาติสมาชิกในระยะยาว
กลยุทธ์ของซาอุดีฯ คือยืนกำลังผลิตในจุดที่ภาวะอุปทานล้นตลาดอันจะฉุดให้ราคาลดลงต่ำกว่าระดับที่ทำให้การผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วจะบีบให้ผู้ผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันต้องลดการผลิต ส่งผลให้ภาวะอุปทานล้นตลาดทุเลาลงและราคาน้ำมันดีดขึ้นอีกครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันจะถือว่าแพงเกินไปที่ระดับราคา 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หมายความว่า หากกลยุทธ์ของริยาดได้ผล ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ระยะยาวผลประโยชน์จะตกอยู่กับโอเปก ในกรณีที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น
ตั้งแต่ก่อนการประชุมโอเปกคราวนี้แล้ว ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก ได้ประกาศลดราคาน้ำมันที่ส่งให้อเมริกาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดจากน้ำมันจากหินน้ำมันที่อเมริกาผลิตเอง
ขณะเดียวกัน โอเปกยืนยันว่า การจัดการกับปัญหาอุปทานล้นตลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับโอเปกเพียงกลุ่มเดียว
ทั้งนี้ วันอังคารที่ผ่านมา (25) เจ้าหน้าที่ซาอุดีฯ ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่จากเวเนซุเอลา และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ได้แก่ รัสเซียและเม็กซิโก ที่เวียนนา ซึ่งหลังจากการประชุมที่น่าประหลาดใจจบลง รอสเนฟต์ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้ประกาศลดกำลังผลิต 25,000 บีพีดีเนื่องจาก “สภาพตลาด”
อย่างไรก็ดี ปริมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของกำลังผลิตของโอเปก จึงไม่ช่วยกระตุ้นราคาน้ำมันแต่อย่างใด