xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! มติโอเปกไม่ลดกำลังผลิตสู้สหรัฐฯ ฉุดน้ำมันโลกดิ่งเหวทันที $3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมโอเปกมีมติคงกำลังผลิต
รอยเตอร์/เอเอฟพี - เหล่าชาติผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย มีชัยในการประชุมโอเปกวันพฤหัสบดี (27 พ.ย.) หลังทางกลุ่มมีมติคงกำลังผลิตตามเดิม ทำเอาประเทศสมาชิกรายย่อยเคือง ออกจากที่ประชุมโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ขณะเดียวกัน ก็ฉุดให้ราคาน้ำมันร่วงลงทันทีกว่า 3 ดอลลาร์

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน ณ เวลา 15.20 น. จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 22.20 น.) ลดลง 2.96 ดอลลาร์ อยู่ที่ 74.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากช่วงหนึ่งขยับลงแตะ 74.36 ดอลลาร์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2010 ส่วนน้ำมันดิบตลาดสหรัฐฯ ลดลง 2.62 ดอลลาร์ อยู่ที่ 71.07 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความคาดหมายว่าอุปทานที่ล้นตลาดอยู่แล้วจะพุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่กว่าที่โอเปกจะมีกำหนดประชุมครั้งต่อไปก็ต้องรอจนกว่าวันที่ 5 มิถุนายน 2015

“มันเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม” อาลี อัล-นูไอมี รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าวด้วยสีหน้าเบิกบาน หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่กินเวลายาวนานถึง 5 ชั่วโมง และเมื่อถูกถามว่าโอเปกตัดสินใจไม่ลดกำลังผลิตและปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่ ถูกต้องแล้ว”

ท่าทีของเขาผิดกับ นายราฟาเอล รามิเรซ รัฐมนตรีต่างประเทศของเวเนซุเอลา ที่เดินทางออกจากที่ประชุมด้วยอารมณ์ขุ่นมัวและปฏิเสธให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลลัพธ์ของที่ประชุม

เหล่าชาติในอ่าวเปอร์เซียผู้มั่งคั่งแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนมาก่อนแล้วว่าพร้อมฝ่าฟันราคาน้ำมันที่ตกต่ำแม้ว่ามันส่งผลกระทบเจ็บปวดแก่สมาชิกรายย่อยของโอเปกอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่าน ที่กดดันให้ลดกำลังผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพแก่ตลาดและคลายแรงกดดันที่มีต่องบประมาณของพวกเขา

ราคาน้ำมันดำดิ่งมาแล้วราว 1 ใน 3 นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากผลผลิตหินน้ำมันของสหรัฐฯที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นและอุปสงค์ที่อ่อนแอจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในจีนและยุโรป

ทั้งนี้ ถ้าโอเปกซึ่งมีสมาชิก 12 ประเทศและผลิตน้ำมันดิบราว 1 ใน 3 ของโลก ดำเนินการลดกำลังผลิตเพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของคู่แข่ง พวกเขาก็เสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับเหล่าชาติผู้ผลิตหินน้ำมันในอเมริกาเหนือ แต่อีกด้านหนึ่ง หากตัดสินใจคงกำลังผลิตในปัจจุบัน ก็เท่ากับว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาด

อาลี ซาเลห์ อัล-โอมาอีร์ รัฐมนตรีน้ำมันคูเวต บอกว่าโอเปกยอมรับได้ไม่ว่าราคาน้ำมันในตลาดจะอยู่ระดับใดก็ตาม ไม่ว่าจะ 60 ดอลลาร์ 80 ดอลลาร์หรือ 100 ดอลลาร์ ส่วนอะเดล อับเดล เมห์ดี รัฐมนตรีเชื้อเพลิงของอิรัก มองว่าราคาต่ำสุดของน้ำมันน่าจะอยู่ที่ 65 - 70 ดอลลาร์

นักวิเคราะห์มองว่าสงครามราคาครั้งนี้อาจทำให้น้ำมันในชั้นหินอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันต่อโอเปกในระยะยาว

“เราตีความที่ซาอุดีอาระเบีย ขายแนวคิดปล่อยราคาน้ำมันระยะสั้นให้ลดต่ำลง ยืนพื้นที่ 60 ดอลลาร์ ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาในช่วงหลายปีข้างหน้า ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ขึ้นไป" โอลิเวอร์ จาค็อบ จากเปโตรมาตริกซ์กล่าว "หรือให้พูดอีกอย่างก็คือ โอเปกจะปล่อยให้ราคาอยู่ในระดับต่ำต่อไปสักพักเพื่อชะลอโครงการพัฒนาต่างๆ ในสหรัฐฯ” เขากล่าว อ้างถึงโครงการน้ำมันชั้นหินของอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น