xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เข้มไลเซนส์คลอดนาโนไฟแนนซ์ ห้ามชวนเชื่อเกินจริง ป้องกันรบกวนลูกค้ามากเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติให้ผู้ขอใบอนุญาต แจงรายละเอียดถี่ยิบ ปลื้มมีผู้สนใจหลายรายสอบถาม มั่นใจช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพิ่มโอกาสและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ คาดรู้ผลการพิจารณาใบอนุญาตภายใน 60 วัน กำชับใช้ทุนตัวเองตั้งบริษัทไม่เกิน 7 เท่าของสัดส่วนผู้ถือหุ้น ห้ามโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง ป้องกันรบกวนลูกค้ามากเกินไป

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพภายใต้กำกับ (นาโนไฟแนนซ์) ทั้งรายใหม่ และรายเก่าที่ต้องการขอใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงินได้ลงนามในประกาศฉบับนี้ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงส่งเสริมให้คุณภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

สาระสำคัญกำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้อนุญาต และให้ยื่นคำขอผ่าน ธปท.และสำนักงานภาคของ ธปท. โดย ธปท.จะแจ้งผลการพิจารณาของคลังต่อผู้ประกอบธุรกิจภายใน 60 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ ธปท.ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน อีกทั้งผู้ให้บริการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และรักษาอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio) หรือมีเงินทุนของตัวเองในการประกอบธุรกิจไม่เกินกว่า 7 เท่า หรืออัตราเกินกว่า และ ธปท.ผ่อนผันให้ก็ต้องลดให้อยู่อัตราดังกล่าวภายใน 1 ปี หรือไม่เกินวันที่ 24 ม.ค.59

ธปท.ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการรบกวนผู้บริโภคมากเกินไป โดยในวันธรรมดาสามารถติดต่อไดตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. และในวันหยุดติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. แจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย แจ้งหนี้ที่ต้องชำระ ส่วนค้างชำระ และยังไม่ถึงกำหนด ซึ่งแยกเงินต้น และดอกเบี้ยไว้ในใบแจ้งชัดเจนอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการต่างๆ ต้องแจ้งให้ทราบภายใน 30 วัน

สำหรับแนวทางการให้สินเชื่อจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องการสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ ไม่มีหลักประกัน และวงเงินสินเชื่อแต่ละรายไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก อีกทั้งคิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันแล้วไม่เกิน 36%ต่อปี และผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่นำจำนวนหนี้ที่ค้างชำระมาคำนวณดอกเบี้ย และค่าปรับอีก

รวมถึงแจ้งรายละเอียด ณ สำนักงานทุกแห่ง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ และเมื่อย้ายสาขาต้องเป็นหนังสือถึงลูกค้า และต้องปิดประกาศ ณ สำนักงานทุกแห่งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน

แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค ห้ามเปลี่ยนประเภทหนี้ ทั้งกรณีโอนลูกหนี้รายเก่าไปอยู่ในสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยบริการนาโนไฟแนนซ์ค่อนข้างสูง หรือผู้ขอสินเชื่อรายใหม่ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือสามารถขอสินเชื่อประเภทอื่นที่ได้รับดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวยกเว้นเมื่อผู้บริโภคยินยอม รวมทั้งถ้าผู้ที่ได้รับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่แล้วมีความสามารถที่ดีขึ้น หรือปรับสินเชื่อประเภทอื่นได้ก็ต้องแจ้ง และทำหนังสือยินยอมให้ผู้บริโภครับทราบ

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจ และสอบถามการทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มายัง ธปท. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีหลายบริษัทที่เตรียมการยื่นขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ทำนาโนไฟแนนซ์ ได้แก่ กลุ่มซีพี เครือสหพัฒน์ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น