xs
xsm
sm
md
lg

นาโนไฟแนนซ์ เพื่อคนจนหรือเพื่อนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการสินเชื่อรายย่อยนาโนไฟแนนซ์ เพื่อช่วยธุรกิจรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี ลดหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลัง

สำหรับรูปแบบการดำเนินการ จะเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือสถาบันการเงิน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ดอกเบี้ย 36% ต่อปี หรือ 3% ต่อเดือน

มาตรการนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่เป็นหนี้นอกระบบ หรือเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านครัวเรือน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

ถือว่า เป็นของขวัญปีใหม่ ชิ้นหนึ่งที่ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบให้กับประชาชน ตามที่เคยให้สัญญาไว้

ถือว่า เป็นเจตนาดี ของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชน หลังจากที่ในอดีต มีความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้ ให้กับคนยากจน ทั้งหนี้ที่มีกับสถาบันการเงินของรัฐ และหนี้นอกระบบ มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ คนจนส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในกับดักแห่งหนี้สินต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูเงื่อนไข ที่บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อแล้ว ยังไม่เห็นว่า คนจนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบจะเข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อย่างไร

เพราะ ผู้ขอกู้จะต้องยื่นเอกสารประกอบ นอกจากบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านแล้ว คือ เอกสารที่แสดงว่า ผู้กู้มีรายได้พียงพอที่จะชำระหนี้ เป็นเงื่อนไขเดียวกับ การขอสินเชื่อรายย่อย หรือสินเชื่อบุคคลของสถาบันการเงินในระบบ

การที่คนจน ผู้มีรายได้น้อย ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูงมหาโหด ก็เพราะว่า สถาบันการเงินในระบบ ไม่เชื่อว่า มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ จึงไม่ให้กู้

ดังนั้นแล้ว จึงไม่เห็นว่า สินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์จะแตกต่างจากสินเชื่อของสถาบันการเงินทั่วไป ในการที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึง แหล่งเงินทุนในระบบได้มากขี้นแต่อย่างไร

นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ย นาโนไฟแนนซ์ ที่อนุญาตให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ย 3 % ต่อเดือน หรือ 36 % ต่อปี นับว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก แม้จะอ้างว่า ถูกกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ สูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือนก็มี แต่ทำให้เป้าหมายเรื่องการช่วยเหลือประชาชนของ โครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นี้ ลดน้ำหนักความน่าเชื่อถือลงไปเยอะ

รัฐบาลพยายามที่จะใช้เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ที่สูงถึงร้อยละ 120 ต่อปี มาเป็นข้ออ้างว่า ถึงอย่างไร ดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ ก็ยังถูกกว่าดอกเบี้ยนอกระบบ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่ง ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล ของสถาบันการเงินที่ว่าสูงแล้ว ยังอยู่ในอัตราไม่เกิน 28 % ต่อปี ต่ำกว่าดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ถึง 8 % ทั้งยังเป็นงินกู้ที่ไม่มีหลักประกัน เหมือนกัน ผู้ขอกู้ต้องแสดงหลักฐานว่า มีรายได้ พอที่จะชำระหนี้ได้เหมือนกัน

ทำไม กระทรวงการคลัง และรัฐบาล จึงยอมให้ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ คิดดอกเบี้ยแพงกว่าดอกเบี้ยในตลาดถึงเกือบ 30 % อย่างนี้ไม่เรียกว่า ช่วยเหลือประชาชน แต่เป็นการช่วยเหลือนายทุน ที่จะตั้งบริษัทขึ้นมาปล่อยกู้ โดยคิดดอกเบี้ยแพงๆ กับประชาชนมากกว่า


กระทรวงการคลัง และรัฐบาลคงใช้ข้ออ้างว่า ที่ตั้งอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต ก็เพราะสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ มีความเสี่ยงมากกว่า จึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นแรงจูงใจนักลงทุน แต่ในความเป็นจริง เมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการให้สินเชื่อของนาโนไฟแนนซ์แล้ว ไม่ได้มีความเสี่ยงมากกว่า สินเชื่อบุคคลโดยทั่วไปแต่อย่างใดเลย

โครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สุดท้ายแล้ว จะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนจากปัญหาหนี้สินได้จริง หรือจะเป็นเพียง การเปลี่ยนเจ้าหนี้ เสียดอกเบี้ยน้อยลง แต่ยังแพงอยู่ดี เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ โครงการนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนที่เข้าถึงเงินทุนต้นทุนต่ำ เข้ามาทำธุรกิจ ปล่อยเงินกู้ คิดดอกเบี้ยแพงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด จากประชาชนผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินทุน



กำลังโหลดความคิดเห็น