xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองยังทรงตัวในระดับสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราคาทองคำในช่วง 7-8 วันที่ผ่านมา เคลื่อนไหวทรงตัวโดยราคาในประเทศเคลื่อนไหวระหว่าง 18,500-18,800 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท โดยราคาทองคำในตลาดโลกเคลื่อนไหวระหว่าง 1,150-1,222.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ***คาดการณ์ว่าราคาทองคำระยะนี้ น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 19,600-19,800 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท คงใม่ปรับตัวลงต่ำกว่า 17,500 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ส่วนราคาในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 1,200-1,280 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ***ขณะเดียวกัน ต้องขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
 
ผู้เขียนได้สรุปสาเหตุการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศกรีซ***เมื่อปี 2551 จนลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก ***เกิดจากการ “ขาดวินัยทางการเงิน”ใช้งบประมาณขาดดุลสูงถึง 14.5%  โดยเฉพาะการก่อหนี้สาธารณะจากนโยบายประชานิยม ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงถึง 113% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ประเทศ ในเวลานั้น  ส่งผลให้ IMF ต้องเข้ามาช่วยเหลือทางการงินเพื่อให้กรีซรอดพ้นจากภาวะ “ล้มละลาย” ***แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กรีซก็ยังเผชิญต่อ “ความไม่แน่นอนทางการเงิน” รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองงย่างต่อเนื่อง***

จนกรีซอาจต้อง “ผิดนัดชำระหนี้” อีกครั้ง เพราะแม้ว่าจะเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา แต่ประชาชนก็ยังคงไม่พอใจผลการเลือกตั้ง และพยายามผลักดันให้จัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้  โดยจะเริ่มเปิดคูหาในวัที่ 25 มกราคม 58 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน “ไซริซา” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเหนือพรรครัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคไซริซา มีนโยบายไม่รับความช่วยเหลือจาก IMF, ธนาคารกลางยุโรป และยังมีความคิดที่จะให้กรีซออกจากยูโรโซนอีกด้วย

กรีซจะกลับมาเป็นชนวน “วิกฤต” ยูโรโซนอีกครั้ง ขณะที่เศรษฐกิจภายในยูโรโซนก็ไม่ดีเท่าใด โดยขณะนี้เยอรมนี ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดในสหภาพยุโรปกำลังเผชิญต่อภาวะเงินเฟ้อต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2014 อยู่ที่ 0.2% ลดลงจาก 0.6% ในเดือนพฤศจิกายน  ส่วนดัชนีผู้บริโภคเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น  ภาวะดังกล่าวทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB  มีแนวโน้มจะใช้มาตรการเข้าซื้อพันธบัตร หลังการประชุมในวันที่ 22 มกราคมนี้ โดยล่าสุด มีรายงานว่า มาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และวูล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี เพื่ออธิบายรายละเอียดของการจัดทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมค่าเงินฟรังก์สวิสไม่ให้แข็งค่า การเข้าพบครั้งนี้เกิดจากธนาคารกลางเยอรมนีคัดค้านอย่างหนักในการทำ QE เพราะวิตกว่า เยอรมนีที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป อาจต้องรับภาระความเสี่ยงของประเทศอื่น ทั้งยังวิตกว่าการทำคิวอีจะทำให้ประเทศต่างๆ ไม่ยอมปฏิรูปเศรษฐกิจ และพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ปัญหาแทน

ลอยด์แบงก์ แห่งอังกฤษ คาดว่าในการประชุมสัปดาห์นี้ นายมาริโอ ดรากี ECB จะไม่เจาะจงลงไปถึงแนวทางการดำเนินมาตรการ QE ว่าจะออกมาในรูปของการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือไม่ และคงไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินการทำ QE  แต่นายดรากี น่าจะย้ำเจตนารมณ์ในการเพิ่มงบดุลของอีซีบีให้ไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปี 2555 อันอาจหมายความว่า ถึงวงเงินในครั้งนี้จะอยู่ที่ 600,000 ล้านยูโร แต่ก็มีการคาดการณ์อีกกระแสว่า วงเงินที่ ECB จะใช้ใน QE ครั้งนี้อยู่ที่ 500,000 ล้านยูโร

มาต่อกันที่ผลกระทบจากการตัดสินใจยกเลิกการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินฟรังก์สวิสที่ 1.20 ฟรังก์สวิส/ยูโร ของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ หรือ SNB ยังคงสร้างความปั่นป่วนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เงินเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับเงินยูโรปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2546 มาอยู่ที่ 1.1460 เหรียญสหรัฐต่อยูโร และแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น โดยขยับมาอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐต่อ 117.5 เยน การแข็งค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 63% จากสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เงินเหรียญสหรัฐที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเริ่มกลับมาเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในตลาดขณะที่ตลาดพันธบัตรทั่วโลกก็ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2556 ที่ 1.7% ส่วนราคาทองคำในตลาดฟิวเจอร์ส งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ในตลาดโคเม็กซ์ ปรับตัวขึ้น 1% มาอยู่ที่ 1,276.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงสุดในรอบหลายเดือน
 
ผู้เขียนเคยเตือนหลายครั้งว่าการ “เล่นเกม” ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา  รัสเซีย  สหภาพยุโรป  จีน  ญี่ปุ่น ฯลฯ กำลังส่งผลให้ค่าเงินโลกอยู่ในภาวะ “ผันผวน” จากผลกระทบของการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในสหภาพยุโรป ล่าสุด ธนาคารกลางเดนมาร์ก ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง จาก -0.05% เป็น -0.2% ทำสถิติต่ำสุด และปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงจาก 0.2% เป็น 0.05% ด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกันกับสวิส ขณะที่ค่าเงินเอเชีย มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP นำโดย ค่าเงินบาท พบว่านับตั้งแต่ต้นปี 2558 แข็งค่าราว 1.15% เมื่อวันที่ 19 มกราคม ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือน ที่ 32.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ตามมาด้วยเงินเปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่า 1.11% ยกเว้น เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 0.7% คาดว่าได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำเข้าสุทธิเฉลี่ยกว่า 20% ของยอดนำเข้ารวม ซึ่งในที่สุดจะทำให้ไทย และประเทศเพื่อนบ้าน มีดุลการค้าที่ดีขึ้น แม้ยอดส่งออกจะยังฟื้นตัวล่าช้า

มีบทวิเคราะห์ออกมาจาก “มอร์แกนสแตนเลย์” กรณีที่หลายประเทศทั้งยุโรป และเอเชียมีความเสี่ยงในการเกิด “ภาวะเงินฝืด” ส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศนั้นๆ ต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้เกิดการ “สะสมหนี้” ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจนำส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมระหว่างประเทศ หรือ GDP ของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ให้เพิ่มขึ้นถึง 203% ในปี 2013 จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 147% ในปี 2007 ภาวการณ์ดังกล่าวจะกดดันให้ภาคเอกชนไม่กล้าใช้งบประมาณการลงทุนเพิ่มเติม  ส่งผลกระทบต่อไปให้ประชาชนย้ายเงินเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการความปลอดภัยในการลงทุน

ปิดท้ายฉบับนี้มา Update วิกฤตในรัสเซีย เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผานมา มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส หนึ่งในบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประกาศปรับลดระดับความน่าเชื่อถือในตราสารหนี้ของรัฐบาลรัสเซีย จาก “BAA2” ลงสู่ระดับ “BASA3” ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด หมายความว่าหากมีการปรับลดสถานะลงอีกในอนาคต ความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลมอสโกจะอยู่ในขั้น “Junk” หรือ ขยะ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ทศวรรษ การปรับลดสถานะครั้งนี้มูดี้ส์ พิจารณาจากปัญหาเสถียรภาพค่าเงินรูเบิล ซึ่งอ่อนลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 บวกกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ที่ต้องการ “ลงโทษ” รัสเซียกรณีปัญหาทางการเมืองในยูเครน รายงานของมูดี้ส์ระบุด้วยว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงลดต่ำลงถึงปี 2559 เศรษฐกิจของรัสเซียอาจชะลอตัวนับจากนั้นไปอีก 2 ปี ขณะที่มีการคาดการณ์เศรษฐกิจของรัสเซียในปีนี้ว่าจะหดตัวราว 5.5% ในปีนี้ และ 3.0% ในปีต่อไป ซึ่งในทางทฤษฎีเท่ากับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซียในรอบ 10 ปี จนถึงปี 2561 เป็นศูนย์

ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซียลงสู่ระดับหดตัว 3% ในปี 2558 ซึ่งปรับลงมากถึง 3.5% จากการประเมินก่อนหน้านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัว 0.6% ในปีที่แล้ว การปรับลดครั้งนี้พิจารณาจากปัญหาเดียวกันคือ “ราคาน้ำมัน” และความตึงเครียดทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ต่างเป็นสาเหตุที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของรัสเซีย ขณะที่วิกฤตการณ์ในรัสเซีย เป็นประเด็นที่ต้องจับตาเนื่องจากอาจจะลุกลาม และนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสู่ระดับ Junk  ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และอาจส่งผลให้ทางการรัสเซียนำมาตรการสกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือ Capital controls ออกมาใช้

สอดคล้องต่อการลงมติของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป หรือ EU ที่กรุงบรัสเซลส์ เห็นพ้องกันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อรัสเซีย รวมถึงจะยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อไป จนกว่ารัสเซียจะปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพยูเครนที่มีผลบังคับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว แม้ว่า นางเฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้ากิจการต่างประเทศ EU บอกว่า จะทบทวนข้อตกลงระหว่างอียูกับรัสเซียก็ตาม

ย้อนมาดูการตั้งรับฝั่งรัสเซีย นายกรีกอรี คาราซิน รมช.ต่างประเทศรัสเซีย แถลงประณามรัฐบาลยูเครนที่เป็นฝ่ายเลือกใช้วิธีการทางทหารยุติความขัดแย้งภายในประเทศ และล่าสุด กระทรวงการคลังรัสเซีย เตรียมนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งมีมากถึง 500,000 ล้านรูเบิล ออกมาอัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เศรษฐกิจ ควบคู่กับการปรับลดงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลทุกภาคส่วนลง 10%  และผู้ส่งออก 4 รายใหญ่ของรัสเซียก็ลดการถือครองเงินตราต่างประเทศลง  เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะสามารถพยุงสภาพเศรษฐกิจภายในรัสเซียได้ระยะหนึ่ง ซึ่งต้องรอดูทิศทางราคาน้ำมันต่อไปว่าจะปรับตัวขึ้นหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น