เอเจนซีส์/เอเอฟพี/รอยเตอร์ - หลังจากค่าเงินรูเบิลทำสถิติตกต่ำสุดถึง 20% ในวันอังคาร (16 ธ.ค.) ที่ผ่านมา และเมื่อวานนี้ (17) ทำให้กระทรวงการคลังหมีขาวประกาศนำเงินทุนสำรองต่างประเทศเทขายอุ้มค่าเงินรูเบิล ในภาวะที่ประชาชนแตกตื่นยืนต่อแถวกว้านซื้อสินค้ากักตุนเพราะเกรงจะมีการปรับราคาครั้งใหญ่ และทำให้บ.แอปเปิลสหรัฐฯต้องออกคำสั่งหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมดในรัสเซียชั่วคราว ในขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ยังคงเก็บตัวเงียบในช่วงภาวะเศรษฐกิจรุมกระหน่ำ และมีกำหนดที่จะต้องออกแถลงให้สัมภาษณ์สื่อในเย็นวันพฤหัสบดี (18) ถึงการรับมือปัญหาวิกฤต ในขณะที่การประชุมสหภาพยุโรปเริ่มในวันนี้ (18) ที่มีการถกประเด็นหลักวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซีย พร้อมยันไม่เพิ่มมาตราการคว่ำบาตรกดดัน
เดลีเมล สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (17) ว่า บ.แอปเปิลสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า ได้ออกคำสั่งหยุดการจำหน่ายสินค้าของบริษัทในรัสเซียจริงเนื่องจากประสบปัญหา “ไม่สามารถตั้งราคาสินค้าได้” เนื่องมาจากค่าสกุลเงินรูเบิลแกว่งตัวไม่หยุด
สื่ออังกฤษชี้ว่า ในปี 2014 ซึ่งเป็นภาวะทีรัสเซียเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย แอปเปิลได้ปรับราคาสินค้าของบริษัทไปแล้ว 20% หลังค่าเงินรูเบิลดิ่งลงตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และทำให้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลที่จำหน่ายในรัสเซียนั้นมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป
และปรากฏการณ์ภาวะผกผันของสกุลเงินรูเบิลทำให้รัสเซียนั่งไม่ติด พยายามดิ้นรนหนักในวันพุธ (17 ธ.ค.) เพื่อหยุดยั้งค่าเงินรูเบิลที่ไหลรูด ทั้งด้วยการเทขายเงินทุนสำรองเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ และการพูดจาปลอบโยนฟื้นความมั่นใจ จนสามารถดันสกุลเงินแดนหมีขาวกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในการซื้อขายช่วงบ่าย อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่ดักรอรูเบิลอยู่คือ แนวโน้มที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะลงนามขยายมาตรการแซงก์ชันรัสเซียปลายสัปดาห์นี้
ในวันพุธ (17) ตอนเปิดตลาด สกุลเงินรัสเซียได้กลับลดลงอีก จนมูลค่าหายไปประมาณ 3.0% เมื่อราวๆ บ่าย 13.00 น.เวลามอสโก (ตรงกับ 17.00 น.เวลาเมืองไทย) จากนั้นจึงดีดกลับขึ้นได้บ้าง โดยซื้อขายกันอยู่ที่ 66.05 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ จากที่อยู่ในระดับ 67.88 รูเบิล/ดอลลาร์ ในคืนวันอังคาร และ 82.20 รูเบิลแลกได้ 1 ยูโร จากระดับ 85.15 ในคืนวันอังคาร
สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์รายงานวันพุธ โดยอ้างคำกล่าวของอเล็กเซย์ มอยเซเยฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคลังรัสเซียว่า กระทรวงการคลังเตรียมนำเงินตราต่างประเทศในบัญชีของกระทรวง ออกขาย “มากที่สุดเท่าที่จะมากได้และนานตราบเท่าที่จำเป็น”
ทั้งนี้ แม้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะใช้เงินเพื่อการนี้เท่าใด แต่กระทรวงเผยว่า มีเงินราว 7,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการฟื้นรูเบิล และไม่มีแผนนำเงินจากกองทุนฉุกเฉินมาใช้
และในวันเดียวกัน เอพีรายงานถึงความสับสนภายในรัสเซียจากปัญหาค่าเงินรูเบิลตก โดยพบว่าในวันพุธ (17) เหล่าผู้บริโภคชาวรัสเซียแห่กันไปยังห้างร้านต่างๆ จับจ่ายซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ทั้งหลายแหล่อย่างบ้าคลั่ง เพื่อครอบครองสินค้าที่ต้องการก่อนที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น เช่น อิเกีย ห้างเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน ออกมาเตือนลูกค้าชาวรัสเซียว่าจะปรับราคาสินค้าขึ้นในวันพฤหัสบดี (18 ธ.ค.) ส่งผลให้เมื่อช่วงบ่ายวันพุธ (17 ธ.ค.) ฝูงชนพากันเบียดเสียดอัดแน่นที่สาขาหนึ่งในมอสโก ราวยังกับว่าเป็นช่วงสุดสัปดาห์เลยทีเดียว
“นี่คือสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง เราอยู่ห่างจากภาวะคนแห่ถอนเงินจากธนาคารแค่ไม่กี่วัน” บทบรรณาธิการของโวเดมอสติ หนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นนำ ระบุในวันพุธ (17 ธ.ค.) “หากไม่สามารถทำให้ตลาดเงินสงบลงได้ในตอนนี้ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการฉุกเฉินที่เข็มแข็งในการดูแลระบบธนาคาร”
อาลีโอนา คอร์ซุนเซวา ผู้บริโภควัย 30 ปีเศษ บอกว่าภาวะตื่นตระหนกที่ห้อมล้อมเศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบัน ทำให้เธอย้อนนึกถึงวิกฤตการเงินปี 1998 ที่ค่าเงินรูเบิลดำดิ่ง หลังจากรัฐบาลประสบภาวะทางเศรษฐกิจไม่สามารถชำระหนี้ได้ “ย้อนกลับไปตอนนั้น คนจำนวนมากรุดไปถอนเงินจากบัญชีธนาคาร ดังนั้นเราจำเป็นต้องปกป้องตนเองเพื่อไม่ให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายเหมือนคราวนั้น”
เหล่าผู้บริโภครัสเซียเลือกซื้อสินค้าคงทนเพราะว่าหุ้นแดนหมีขาวผันผวนเกินไป ขณะที่ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ก็ไม่มีฐานะทางการเงินดีพอที่จะซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์
ด้านสหภาพยุโรป เอเอฟพีรายงานในวันนี้ (18) ว่า จะมีการประชุมสมาชิกสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์เป็นวันแรก ที่ประธานคณะมนตรียุโรป โดนัลด์ ทัสค์ อดีตนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ได้กล่าวโดยรวมถึงเนื้อหาหลักของการประชุม จะอยู่ที่ความสนใจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของรัสเซียเป็นหลัก และย้ำว่า “จะยังไม่มีการเพิ่มมาตราการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันประธานาธิบดีปูตินไปมากกว่านี้”
สื่อฝรั่งเศสรายงานเพิ่มเติมว่า ในกรอบการประชุม บรรดาชาติสมาชิกอียูจะร่วมสนับสนุนแผนการลงทุนEuropean Fund for Strategic Investment (EFSI) ร่วม 315 พันล้านยูโรเพื่อพยุงเศรษฐกิจยุโรป ต้องการดึดดูดนักลงทุนให้กลับเข้ามาอีกครั้ง
โดยในการสนับสนุนของอียูและธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป หรือ EIB คาดว่าจะสามารถดึงแผนการลงทุนจากภาคเอกชนเข้าสู่ยุดรปได้ราว 15แผน ซึ่งเม็ดเงิน 315 พันล้านยูโรนี้จะอัดฉีดลงในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะมีส่วนกระตุ้นหลายภาคส่วนพร้อมกันในกลุ่ม 28 ชาติ ในด้านคมนาคม พลังงาน SME การจ้างงานคนหนุ่มสาว การศึกษา และรวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลระบบความเร็วสูง และทางสหภาพยุโรปคาดว่า แผนการลงทุนEFSI จะสามารถสร้างงานได้ถึง 1 ล้านตำแหน่ง
แต่กระนั้นแหล่งข่าวจากเยอรมนีให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า แผนการลงทุน EFSI ยังคลุมเคลือ เพราะชาติสมาชิกต้องการทราบว่า แผนการลงทุนนี้จะสำเร็จได้อย่างไร โครงการประเภทใดบ้างที่จะอยู่ในการลงทุนนี้ และผลประโยชน์ที่กลุ่ม 28 ประเทศสมาชิกจะได้รับในขณะที่ดูเหมือนงบดุลของแต่ละประเทศนั้นจะอยู่ในสภาวะตรึงเครียด
“ไม่คิดว่าวันพรุ่งนี้หรือวันถัดไป ประเทศชาติสมาชิกจะตัดสินใจร่วมในแผนการนี้” แหล่งข่าวเยอรมนีกล่าว
และนอกจากนี้ในส่วนหัวข้อหลักเกี่ยวกับการลงโทษรัสเซีย ทัสค์ให้ความเห็นว่า “สภาวะเศรษฐกิจรัสเซียในขณะนี้อยู่ในความสนใจของสมาชิกทุกคน” หลังจากในหลายเดือนที่ผ่านมา ที่เห็นทางรัสเซียพยายามทุ่มเม็ดเงินเพื่อสกัดการตกของค่าเงินรูเบิล เนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำและผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและวอชิงตัน
ทั้งนี้ แหล่งข่าวการทูตในบรัสเซลส์ให้ข้อมูลกับเอเอฟพีว่า “ในการประชุมสหภาพยุโรปครั้งนี้ จะยังไม่มีการเพิ่มมาตรการกดดันรัสเซียทางเศรษฐกิจรอบใหม่ เพราะไม่ต้องการยั่วยุประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูตินให้มากไปกว่านี้ แต่จะใช้วิธีทางการเมืองในการแก้ปัญหาแทน”
ในวันอังคาร (16) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ ออลล็องด์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ประธานาธิบดียูเครน เปโตร โปโรเชนโก รวมไปถึงประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้ตกลงหารือในทางออกปัญหาวิกฤตยูเครนตะวันออก โดยทั้งหมดเห็นควรว่า การเจรจาสันติภาพนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดนั้นควร จะให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาให้เร็วที่สุด
“ผู้นำชาติสมาชิกอียูตกลงว่า การคว่ำบาตรมีผลกระทบ แต่พวกเขาแต่ละชาติจะยังไม่ยุติ” แหล่งข่าวแถลงต่อ เพราะเห็นได้ชัดว่าทางรัสเซียยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับยูเครน
นอกจากนี้ เอเอฟพียัวรายงานเพิ่มเติมว่า ดูเหมือนในวินาทีนี้ สายตาคนทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ผู้นำรัสเซีย ที่ตลอดมาในช่วงภาวะค่าเงินรูเบิลดิ่งเหว ดูเหมือนปูตินเก็บตัวเงียบมาตลอด แต่ทว่าในค่ำวัพฤหัสบดี (18) นี้ตามเวลารัสเซีย ปูตินมีกำหนดต้องออกแถลงกับสื่อนับร้อยทั้งสื่อรัสเซียและสื่อต่างชาติ และเป็นที่เข้าใจว่า เขาไม่สามารถเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดหนักของรัสเซียได้
วิกฤตการเงินครั้งนี้ของรัสเซียดูเหมือนว่าเป็นวิกฤตทางบริหารของปูตินที่หนักที่สุดในรอบ 15 ปีของการอยู่ในอำนาจทางการเมือง
โดยเศรษฐกิจที่ดิ่งเหวสืบเนื่องมาจากการรวมตัวคว่ำบาตรของชาติตะวันตก รวมไปถึงการปรับตัวราคาน้ำมันโลก ซึ่งปูตินที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของรัสเซีย ที่มีนักสังเกตการณ์ตั้งคำถามว่า “ความอ่อนแอของรัสเซียที่เกิดขึ้นนั้นแสดงถึงความอ่อนแอของตัวปูตินด้วยหรือไม่”
อเลกซานเดอร์ โคโนวาลอฟ (Alexander Konovalov) ประธานสถาบัน Strategoc Assessements ให้ความเห็นว่า เครมลินไม่มียุทธศาสตรในการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ “ดูเหมือนว่าผู้นำรัสเซียจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก” โคโนวาลอฟกล่าว เพราะด้านเศรษฐกิจและการเงินไม่ใช่จุดแข็งของผู้นำรัสเซียคนนี้
ในขณะที่ล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ให้ความเห็นถึง การรวมหัวคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกว่า แท้จริงแล้วจุดประสงค์หลักเพื่อเล่นงานปูติน ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุดบริหารประเทศชุดปัจจุบัน และดูเหมือนสิ่งนี้จะเริ่มปรากฏร่องรอยให้เห็น
รอยเตอร์รายงานในวันพฤหัสบดี (18) ว่า มิคาอิล คาสยานอฟ ( Mikhail Kasyanov) ผู้นำฝ่ายค้านรสเซีย อดีตนายกรัฐเซียกล่าวโทษปูตินมีคว่ามผิดพลาดในการบริหารจนทำให้รัสเซียเข้าสู่ปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “รัสเซียกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งในปี 2015 เป็นปีที่ปูตินต้องทำการตัดสินใจครั้งสำคัญ” คาสยานอฟวัย 57 ปี ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อเย็นวานนี้ (17) และชี้ว่า ประธานาธิบดีรัสเซียมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ การปิดปากเสียงวิจารณ์ถึงความจริงที่เจ็บปวด หรือจะยอมรับว่า รัสเซียต้องการหาทางออกฉุกเฉิน และตกลงให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้นกว่ากำหนด “และจะทำให้ปูตินสามารถลงจากอำนาจไปอย่างเงียบๆ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งใหม่เกิดขึ้น เพราะผมไม่เชื่อว่า ปูตินจะสามารถได้รับเลือกกลับเข้ามาอีกครั้งท่ามกลางการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและมีเสรีภาพ” คาสยานอฟกล่าว
โดยกำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2018 ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปูตินในวัย 62 ปีจะลงชิงตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่