xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองทำผันผวนตามข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ระยะ 7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศค่อนข้างผันผวน โดยมีช่วงที่ราคาอ่อนตัวลงมาต่ำสุดที่ 19,250-19,350 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท และราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 19,450-19,550 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท เป็นการเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่ผันผวนตลอดเวลา โดยแข็งค่าอยู่ที่ระดับประมาณ 31.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นก็เริ่มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 32.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศทันทีที่ค่าเงินเคลื่อนไหว 0.20 บาท ดังนั้น ราคาทองคำช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเคลื่อนไหวหลายครั้งต่อวัน

ขณะที่ราคาทองคำโลกระยะนี้ผันผวนตามข่าวการสู้รบในอิรักที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น  แม้แต่ในซีเรีย ยูเครน และลิเบีย  ประกอบกับเศรษฐกิจในยุโรปก็ยังย่ำแย่ ไม่มีโอกาสฟื้นตัว และเมื่อย้อนกลับมามองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการเปิดเผยตัวเลขต่างๆ ทั้งยอดขายบ้าน  ดัชนีผู้บริโภค  ตัวเลขการว่างงานที่ลดลง รวมถึงภาพกิจการต่างๆ ที่ดีขึ้น ก็อาจเป็นเพียงภาพลวงต าเนื่องจากสหรัฐอเมริกาชอบสร้าง “ตัวเลข” ตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะหากดูจากตัวเลขที่แท้จริง สหรัฐฯ ดำเนิน “งบประมาณขาดดุล” มาตลอดระยะเวลา

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าระยะสั้น ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,275.50-1,303.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 19,200-19,800 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท

ราคาทองคำในช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะผันผวนตามเหตุผลที่นักลงทุนรายใหญ่ หรือ “เฮดจ์ฟันด์” นำมากล่าวอ้างว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ “ความตึงเครียด” สลับกับกระแส “เศรษฐกิจฟื้นตัว”  สร้างความชอบธรรมให้ราคาทองคำเคลื่อนไหว ก่อนที่กองทุนเหล่านั้นจะซื้อเก็บเพื่อการเก็งกำไรในรอบต่อไป

ฉบับนี้อยากเตือนนักลงทุนให้เพิ่มความระวังในการเข้าลงทุนในตลาดโกลดิ์ฟิวเจอร์ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของราคาทองจาก “กูรู” ที่เคยเป็นกรรมการในสมาคมค้าทองคำ แต่ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้ว เพราะท่านผู้นี้พยายามทำตัวเป็นกูรู สร้างกระแสราคาทองคำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุน “ขาดทุน” หลายครั้ง จนตลาดโกลด์ฟิวเจอรเริ่มซบเซา ก็ยังคงเดินหน้าเสนอตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้จัดตั้ง SPOT GOLD MARKET ซึ่งถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพากร  เพราะปัจจุบันการค้าขายทองคำ ภาษีการค้าอยู่ที่ 0% แต่กรมสรรพากร ก็ยังเก็บภาษีเงินได้จาก ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 โดยคิดจากกำไรของแต่ละรอบบัญชีการซื้อ-ขายทองคำแท่ง  แต่หากมี SPOT GOLD MARKET ขึ้นมา บุคคลทั่วไปที่เคยซื้อ-ขายทองคำแท่ง ก็จะหันเข้าไปซื้อ-ขายผ่านตลาดดังกล่าว  การจัดเก็บรายได้ภาครัฐก็จะยิ่งหดตัวลง  งานนี้กระทรวงการคลังจะดำเนินการอย่างไร

“ทองคำ” เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวอินเดีย โดยจะใช้เป็นของขวัญในงานพิธี และงานแต่งงาน ทำให้อินเดีย มีความต้องการทองคำเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน  และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2557 นี้ ความต้องการทองคำในอินเดียจะมีสัดส่วน 22.5% ของทั้งโลก คิดเป็นประมาณ 894 ตัน แต่ก็ยังถือว่าลดลงจาก 975 ตันในปี 2556 เนื่องจากรัฐบาลอินเดียใช้มาตรการคุมเข้มการนำเข้าทองคำ หลังจากอินเดียประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  แต่กลับส่งผลข้างเคียง คือ มีการลักลอบนำเข้าทองคำเข้าอินเดียอย่างผิดกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทรวงการคลังอินเดียจึงเริ่มใช้ “โครงการฝากทองไว้กับธนาคาร” โดยผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ยที่อัตรา 0.75-1.0% จากราคาทองคำ โดยสามารถกำหนดระยะเวลาการฝากทองได้ที่ 6 เดือน-7 ปี อีกทั้งยังเลือกรับคืนเป็นเหรียญทองคำ 99.9% หรือรับเป็นเงินสดก็ได้  และการฝากทองก็สามารถแสดงความจำนงโอนให้บุคคลอื่น รวมถึงได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย

โครงการดังกล่าวต้องการรวบรวมทองคำให้ได้ 500 กิโลกรัม โดยธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจะส่งต่อทองคำให้ธนาคารกลางอินเดียนำไปหลอม ทำสินค้าให้เพื่อให้เกิดเป็นอุปสงค์ มารองรับอุปทานในประเทศ หมุนเวียนถือเป็นการลดการนำเข้าทองคำในระยะยาว

ขออัปเดตสถานการณ์การคว่ำบาตรระหว่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัสเซีย นับตั้งแต่เกิดวิกฤตยูเครน ที่สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศใน EU ให้เป็นข้ออ้างออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การค้า และการเงินรัสเซีย แต่กลับกลายเป็นว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มประเทศ EU โดยตรง โดยเฉพาะมาตรการโต้ตอบการคว่ำบาตรของรัสเซีย ที่สั่งห้ามนำเข้าสินค้าประเภทนม และเนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ และสินค้าประเภทพืช ผลไม้จากสหภาพยุโรป  ส่งผลให้เกษตกรในสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้คณะกรรมาธิการยุโรปจะเข้ามาช่วยจ่ายเงินชดเชยค่าเก็บรักษาสต๊อกสินค้า แต่สินค้าประเภทพืช  ผลไม้ ก็มีอายุเก็บได้ไม่เกิน 3-7 เดือน นอกจากนี้ ยังมีสินค้าประเภทนมผง  เนย และชีส อีกเป็นจำนวนมากจนถึงกับต้องมีการหารือเรื่องการหาตลาดทดแทน และจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย

จนถึงปัจจุบัน มาตรการตอบโต้จากรัสเซียสร้างความเสียหายให้สหภาพยุโรป ผ่านการจ่ายเงินชดเชยแล้วประมาณ 145 ล้านยูโร แบ่งเป็นจ่ายให้เกษตรกรผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม 10-20 ล้านยูโร และมีการคาดการณ์ว่า ความเสียหายอาจสูงถึง 240 ล้านยูโร และยังส่งผลให้ราคานมในตลาดลดลงถึง 30%  ส่วนอีก 125 ล้านยูโร จ่ายให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากพืช ผัก ผลไม้ที่เสียหาย  หากพิจารณากรณีไม่มีมาตรการคว่ำบาตร สหภาพยุโรปจะมีรายได้จากการขายสินค้าเกษตรประเภทพืช ผัก ผลไม่ให้รัสเซียกว่า 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (คำนวณจากปี 2556) คิดเป็นประมาณ 10% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของสหภาพยุโรป ในส่วนของผลิตภัณฑ์นม มูลค่าการส่งออกจากสหภาพยุโรปไปรัสเซียเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว

สถานการณ์การสู้รบล่าสุด ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง แต่ก็ไม่มีท่าทีรุนแรงเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าผู้นำรัสเซียจะประกาศเป็นระยะว่า จะเริ่มการ “นั่งโต๊ะ” เจรจาแต่กลับส่งทหารรัสเซียแทรกซึมเข้าไปอยู่ในกลุ่มกบฏยูเครนเพื่อไปช่วยรบกับรัฐบาลยูเครน  และแม้ว่าผลการประชุมร่วมของผู้นำ 28 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU ได้ขีดเส้นตายให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครนภายในสัปดาห์นี้ มิเช่นนั้น รัสเซียจะต้องเผชิญต่อมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงกว่าเดิมก็ตาม
หากกลับมาวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซนทั้ง 18 ประเทศ ต้องยอมรับว่า “ซบเซา” ลงมากจากวิกฤตยูเครน โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของทั้งเยอรมนี  ฝรั่งเศส  และอิตาลี ไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ  จนมีความกังวลว่าจะเกิดภาวะ “เงินฝืด” ขึ้นในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน ดังนั้น การประชุมของธนาคารกลางยุโรป ในวันที่ 4 กันยายนนี้ จะมีการพิจารณาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเปิดช่องทางการกู้เงินให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยถูกได้ แต่ระดับเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนกลับไม่กระเตื้องขึ้น แถมยังต่ำลงอีก เห็นได้จากเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.3% ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ที่ 0.4%  และห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 2% อีกมาก

ประเทศเยอรมนี มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของกลุ่มยูโรโซน ประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 106.3 จุดจากเดิม 108 จุด ในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นการร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แตะจุดต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และไตรมาส 2/14 ที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของเยอรมนี อยู่ที่ -02% เป็นครั้งแรกในรอบปี ถึงแม้ธนาคารกลางเยอรมนีจะออกมาชี้แจงว่า เกิดจากผลกระทบทางสภาพอากาศ และเศรษฐกิจเยอรมนีจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังก็ตาม

ขณะเดียวกัน เจ้าหนี้กลุ่ม “ทรอยกา” ประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF  ธนาคารกลางยุโรป  และคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EC จะระงับการปล่อยเงินกู้ผ่านโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แก่ไซปรัส จำนวน 10,000 ล้านยูโรในงวดถัดไป จนกว่าไซปรัส จะผ่านร่างกฎหมายที่สามารถควบคุมจำนวนสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL เนื่องจากการเงินกู้ประมาณ 45% ของธนาคารไซปรัส ถูกจัดเป็น NPL และหากใช้กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันกว่าธนาคารจะได้เงินคืนต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี

สรุปโดยภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจในยูโรโซนกลับได้รับผลกระทบทางลบจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย การขายสินค้าก็ลดลง ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา แม้รัฐบาลประเทศต่างๆ จะพยายามออกมาตรการกระตุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น