xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ตั้งรับยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ หมดยุคการผูกขาด-เอื้อการแข่งขันในระดับประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“การปฏิรูปอาจสูญเสียการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะสั้นบ้าง แต่เป็นกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว นั่นคือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าต้นทุนเสียไป”

***ตลอดช่วงปี 57 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญศึกนอก-ในประเทศ เริ่มต้นปีปัญหาการเมืองภายในลากยาวมา ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปี ปัญหาหนี้ครัวเรือนกระทบตัวคนเป็นหนี้และเศรษฐกิจโดยรวม ขณะเดียวกัน ความแตกต่างของนโยบายการเงิน และภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ก็มีผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมมายังไทย ทำให้ความหวังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวมีส่วนดึงให้เศรษฐกิจไทยมีเรี่ยวแรงกลับเป็นเรื่องยากขึ้น***

ทิ้งท้ายปี 57 ที่ประชุม กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2% ต่อปี ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง ซึ่งเสียงเห็นต่างเสนอลดดอกเบี้ย 0.25% ออกเสียงลดเพิ่มขึ้นจากการประชุมก่อนหน้า ขณะเดียวกัน กนง.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเหลือ 0.8% สำหรับปี 57 และปี 58 เหลือ 4.0% จากเดิม 4.8% เพราะการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภค-ลงทุนของเอกชน ภาคท่องเที่ยว

ภาคส่งออกของไทยทุกตัวออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ และมีการปรับลดประมาณการทุกตัว อีกทั้งน้ำหนักความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างละครึ่ง ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติช้ากว่าที่เคยประเมินไว้

“การเร่งรัฐการใช้จ่ายภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายเป็นปัจจัยสำคัญเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และในระยะต่อไปนโยบายการเงินของไทยควรอยู่ระดับผ่อนปรน เพื่อช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งขึ้น ส่วนขนาดผ่อนปรน (คงหรือลด) ขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยออกมา ซึ่งแม้เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องแต่การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องดูทิศทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินประกอบด้วย” เมธี สุภาพงษ์ เลขานุการบอร์ด กนง.กล่าวทิ้งท้ายในการประชุมครั้งล่าสุด

ปริมาณและสัดส่วนของหนี้สินเหล่านี้ไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ในระบบมียอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 2.95 แสนล้านบาท สัดส่วน 2.35% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 57 และยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนแตะ 10.03 ล้านล้านบาท ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนขยับต่อเนื่องอยู่ที่ 83.49%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุด ในไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยติดลบ 0.68% เริ่มจูงใจให้ผู้ออมหันไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น

เริ่มแรกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (บอร์ด กนง.) แสดงความกังวลระดับหนี้ครัวเรือนสูงจากอัตราการก่อหนี้ใหม่ยังสูงกว่าการขยายตัวของรายได้ ไม่ต่าง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ แบงก์ชาติ ออกมาระบุว่า กำลังจับตา และห่วงจะกระทบต่อความเปราะบางทางการเงิน แต่ระยะหลังแบงก์ชาติพยายามชี้แจง ตอนนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ตัวบั่นทอนเศรษฐกิจ และไม่ควรใช้เป็นเงื่อนไขตัดสินนโยบายการเงิน แต่กลับกลัวคนห่วงเกินไปจนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และฉุดการลงทุน

แม้แรงส่งเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยดีบ้าง แย่บ้าง หลายคนถามถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า ในปี 58 เศรษฐกิจไทยน่าจะเปรียบเหมือนคนป่วยหายจากไข้ ค่อยๆ ฟื้นฟูร่างกายจนแข็งแรงสามารถออกวิ่งได้ และครั้งนี้เมื่อเราฟื้นจากโรคร้ายได้แล้ว เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อมิให้กลับไปเป็นโรคร้ายเช่นเดิมอีก กล่าวคือ เราต้องออกกำลังกาย และเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้กลับไปอ่อนแอ และเจ็บป่วยอีก เปรียบเสมือนเศรษฐกิจไทยที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างโดยอาศัยนโยบายด้านซัปพลายไซด์

“หากเปรียบเป็นทีมฟุตบอล ภาคธุรกิจ และธนาคาร คือ กองหน้าที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติ เพื่อบุกทำประตู ส่วนรัฐบาล หรือกองกลางเป็นคนทำเกม (Play Maker) คอยกำหนดนโยบายชี้ทิศทาง สนับสนุนการบุก ขณะที่แบงก์ชาติ คือ กองหลังคอยดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างราบรื่น และมั่นคง”

สำหรับปีแพะมองว่า ตลาดการเงินอาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น เพราะความแตกต่างด้านนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก สหรัฐฯ มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปี 58 ขณะที่ญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรจะยังคงผ่อนคลายดอกเบี้ยต่อไป จึงมีโอกาสที่เงินไหลเข้าสหรัฐมากขึ้น และไหลออกจากญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรไปยังประเทศอื่นที่เศรษฐกิจดีกว่า สำหรับประเทศไทย แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลเฉพาะช่วงที่เงินบาทเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน และค่าเงินเป็นเรื่องคาดการณ์ยาก จึงแนะนำให้ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกไทยทำการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้ดีที่สุด

ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษางานด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ยิ่งความหวังเศรษฐกิจโลกได้น้อยลงก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวเอง และประเทศไทยก็มีปัญหาโครงสร้างอยู่แล้ว ยิ่งต้องปฏิรูปตัวเองให้เร็วขึ้น ฉะนั้น โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 58 คือ นโยบายภาคการคลังบวกการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อวางรากฐานการเติบโตในอนาคต

“การปฏิรูปเศรษฐกิจต้องใช้เวลา การทำช้าอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยิ่งไม่ทำ หรือช้าไปอีกผลกระทบมากกว่านี้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ปฏิรูปเศรษฐกิจจีนว่าการปฏิรูปอาจต้องสูญเสียการขยายตัวในระยะสั้นบ้าง แต่เป็นกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว นั่นคือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าต้นทุนเสียไปแน่นอน”

การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ถือเป็นพระเอกในปี 58 สร้างบรรยากาศภายในประเทศ ลดการผูกขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเป็นวิธีที่ดีที่สุดช่วยธุรกิจขนาดเล็ก เอื้อการแข่งขันระดับประเทศ การปฏิรูปพลังงาน อยากให้มีกำลังใจทำต่อไป เพราะเป็นตัวเดียวทำให้ประเทศเสียเงินไปฟรีๆ อย่างอุดหนุนราคาดีเซลต้องเสียเงินไป 1 แสนล้านบาทต่อปี แทนที่สร้างรถไฟฟ้าได้หลายสาย
ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศผลิตน้ำมันยังเลิกอุดหนุน ไทยเป็นประเทศนำเข้ายิ่งต้องเลิกทำ

การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ระบบลอจิสติกส์ ขนส่งมวลชน ควรทำให้คนเห็นชัดเจนว่าจะเสร็จเมื่อไรในแต่ละโครงการ อย่างน้อยคนเชื่อว่าทำแน่ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ไม่แค่ผลระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งคนได้รับความสะดวก และต้นทุนการเดินทางถูกลง การปฏิรูปแรงงานควรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน พัฒนาภาคเกษตร

***“ปัจจัยสำคัญสุด คือ มนุษย์ต้องทำให้คนภายในประเทศเป็นคนช่างคิด คิดเป็น มีเหตุผล ซึ่งคนเหล่านี้จะเคารพกฎระเบียบ คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม และก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งการผลิตใหม่ๆ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นเสมอ ไม่ถูกจำกัดแรงงานและทุน แม้จะใช้คนเท่าเดิมก็ตาม จึงเป็นปัจจัยเดียวทำให้ประเทศชาติเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้”***
กำลังโหลดความคิดเห็น