xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกเล่นไทยไม่เลิก! แฉไม่จ่ายเงินชดเชยแรงงานแกะกุ้งต่างด้าวถูกเลิกจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) แรงงานต่างด้าว ณ โรงงานแกะเปลือกกุ้งแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม
รอยเตอร์ - แรงงานต่างด้าวตามโรงงานแกะเปลือกกุ้งของไทยที่ถูกเปิดโปงว่าเต็มไปด้วยการล่วงละเมิดแรงงานกำลังถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้เงินชดเชย ทำให้คนเหล่านี้เสี่ยงถูกขายต่อแก่นายจ้างอื่นๆ ในขณะที่เหล่าบริษัทอาหารทะเลพยายามชำระล้างห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา ตามรายงานของรอยเตอร์ที่อ้างคำบอกเล่าของนักเคลื่อนไหวรายหนึ่งในวันพฤหัสบดี (21 ม.ค.) ไม่กี่วันก่อนหน้าที่ผู้แทนอียูจะมาเยือนไทยเพื่อตรวจสอบดูว่ามีความคืบหน้าในการดูแลจัดการเรื่องอุตสาหกรรมประมงผิดกฎหมาย

อุตสาหกรรมประมงอันใหญ่โตของไทย ซึ่งแค่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพียงแห่งเดียวก็มีมูลค่ากว่า 641 ล้านดอลลาร์ถึง 813 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เวลานี้เริ่มมีชื่อเสียงในแง่ร้ายและกำลังตกเป็นเป้าหมายโจมตีอย่างหนัก ด้วยพวกเอ็นจีโอและสื่อมวลชนต่างรายงานนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาส ค้ามนุษย์ และล่วงละเมิดแรงงานอื่นๆ ทั้งบนบกและในทะเล

รัฐบาลและทางกลุ่มอุตสากรรมได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่าเหล่าสมาชิกจะยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ภายนอก ตลอดห่วงโซ่อุปทานกุ้งของบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงการกระทำผิดกฎหมายแรงงานใดๆ ในห่วงโซ่อุปทานกุ้งของไทย

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย ปฏิเสธความกังวลของเหล่านักเคลื่อนไหวและรายงานข่าวต่างๆ ที่กำลังก่อปัญหาต่ออุตสาหกรรม โดยเขายืนยันว่าทางสมาคมฯ ได้ทำความตกลงกับแรงงาน ณ โรงงานแกะกุ้งราว 50 แห่งที่ป้อนกุ้งแก่บริษัทสมาชิก แต่ยังมีอยู่ 8 แห่งที่กำลังหาทางคลี่คลายปัญหาต่างๆ

“เราทำงานเพื่อคลี่คลายปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นปี แรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับการดูแล ทั้งจัดหางานใหม่และเงินชดเชย” นายพจน์ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ในวันพฤหัสบดี (21 ม.ค.)

รอยเตอร์บอกว่า คำชี้แจงดังกล่าวสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของไทยยูเนียนกรุ๊ป บริษัทอาหารทะเลรายใหญ่ ที่แถลงเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ว่าพวกเขากำลังว่าจ้างแรงงาน 1,200 คนที่เคยเป็นอดีตลูกจ้างของเหล่าโรงงานแกะกุ้งภายนอกเข้าทำงานตามโรงงานต่างๆ ของบริษัท

แต่เหล่านักเคลื่อนไหวอ้างว่าแรงงานจำนวนมากในโรงงานแกะกุ้งถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการแจ้งเตือนมาก่อนและไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ ขณะที่จำนวนมากยังติดค้างหนี้นายหน้าหรือไม่ก็นายจ้าง “แนวทางการจัดการกับเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เราได้ยินจากพวกคนงานว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินชดเชยแม้แต่น้อย พวกเขาแค่ย้ายไปสู่สถานทำงานอีกแห่ง และนี่เป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงอย่างยิ่ง” แอนดี ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวบอกกับรอยเตอร์ในวันพฤหัสบดี (21 ม.ค.)

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ลดอันดับไทยลงสู่เทียร์ 3 ในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ปี 2014 ซึ่งถือเป็นขั้นต่ำสุด ส่วนสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยในเดือนเมษายนปีก่อน จากความล้มเหลวในการจัดการปัญหาต่างๆ ในอุตสาหกรรมประมง ขณะที่ผู้แทนอียูมีกำหนดเยือนไทยในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินความก้าวหน้าของปรเทศในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น