“คลัง” ชี้ภาษีที่ดินไม่กระทบตลาดอสังหาฯ ด้าน สศค. ชี้เศรษฐกิจไทยปี 58 โต 4.1 แต่ยังเปราะบาง จากปัญหาสินค้าเกษตรราคาตก หนี้ครัวเรือนสูง ส่งออกต่ำ แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายเมกะโปรเจกต์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาใหญ่ ประจำปี 2557 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ภายใต้หัวข้อ “Real Estate Megatrends แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต” ว่า การที่ภาครัฐมีนโยบายออกร่างพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะมีการออกกฎหมายรองรับการจัดเก็บภาษีให้สมดุล และเป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดิน ซึ่งอัตราภาษีที่ประชาชนจ่ายจริงจะขึ้นอยู่กับขนาดที่ดินและราคาบ้าน โดยมีเพดานสูงสุดไม่เกิน 4% ถือว่าเป็นอัตราไม่สูงเกินไป
ในส่วนการออกพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกัน ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการค้ำประกันในอนาคต เพราะเชื่อว่าภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ทั้งนี้กระทรวงการคลัง เตรียมหารือร่วมกับ 3 สมาคมภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุด และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลกระทบจากการออกกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนการออกพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกัน
สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา โครงการแนวราบมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 8% หรือ 38,000 ยูนิต คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีการขยายตัวมากขึ้นที่ประมาณ 45,000 ยูนิต ในส่วนของโครงการแนวสูง หรือคอนโดมิเนียม เชื่อว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงประมาณ 20%หรือประมาณ 65,000 ยูนิต เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนกว่า 85,000 ยูนิต เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการใหม่กันเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ผู้ประกอบการรอดูสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าเชื่อว่าโครงการคอนโดฯ จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
เศรษฐกิจไทยปี 58 โตเปราะบาง
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส รองผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวในลักษณะเปราะบาง เพราะมีเพียงสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เท่านั้นที่ฟื้นตัว ในขณะที่ยุโรป จีน ญี่ปุ่นทิศทางเศรษฐกิจยังไม่สดใส ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อีกทั้งก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ตลาดสหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภาคส่งออกของไทยเปลี่ยนฐานตลาดอเมริกามายังประเทศจีน แต่แนวโน้มปีหน้าจีนก็กำลังเผชิญหน้าต่อภาวะเศรษฐกิจผันผวน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่า จะทำอย่างไรที่ภาคส่งออกของไทยจะปรับตัวรอบใหม่หันกลับไปหาตลาดอเมริกาอีกครั้ง
ส่วนภาวะการเงินโลก มีแนวโน้มผันผวนจากการฟื้นตัวของอเมริกา จึงมีแนวโน้มว่าอเมริกาอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยปรับขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยจะปรับลดลงตามดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตาม
ด้านการบริโภคของภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี หากภาครัฐลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งไทยไม่ได้ลงทุนครั้งใหญ่มานานแล้ว นับจากโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งหากประเมินจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก โดยจะพบว่า การส่งออกถือเป็นเป็นผลกระทบหลัก เนื่องจากเป็นรายได้หลักของประเทศ
“หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในสัดส่วน 47% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ยังคุ้มค่าที่จะลงทุน โดยระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังแข็งแกร่ง รองรับความผันผวนได้ เพราะภาวะเอ็นพีแอล มีสัดส่วนเพียง 2.2% ถือว่ายังไม่สูงมาก หากเศรษฐกิจดี แบงก์พาณิชย์พร้อมระดมเงินฝาก เพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อ โดยเวลานี้แบงก์พาณิชย์รอสัญญาณจากการลงทุนภาครัฐ” นายเอกนิติ กล่าว