“นักวิชาการ” แนะหลักในการจัดเก็บภาษี “ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง” ต้องไม่ผลักภาระให้ผู้มีรายได้น้อย และตั้งกองทุนดูแล เพื่อไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือนายทุน ขณะเดียวกัน ก็ต้องแยกให้ชัดเจนในการเก็บภาษีโรงเรือน เพราะอาคารพาณิชย์ในเมือง พื้นที่ชั้นล่างใช้ประกอบกิจการ แต่ใช้ประโยชน์ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย
สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางเศรษฐกิจปี 2558 “ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย” โดยมีฝ่ายบริหารจากรัฐบาล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักเศรษฐศาสตร์ ร่วมบรรยายในงานดังกล่าว เพื่อเสนอแนะความเห็นต่อการปฏิรูปด้านต่างๆ ของประเทศไทย
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุน คน ที่ดิน” โดยระบุว่า รัฐบาลตระหนักการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างมาก แต่สิ่งที่ยังไม่ให้ความสำคัญ คือ เมื่อได้ทุนมาแล้วไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จากเงินทุนจนเป็นภาระหนี้ และนำไปสู่ภาวะล้มละลายได้ สำหรับรายได้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ 20 รายแรก ทำรายได้ในสัดส่วนถึงร้อยละ 83 ของรายได้ภาคธุรกิจทั้งระบบในปี 2548 และเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 94 ในปี 2556 ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมีรายได้ร้อยละ 16 ในปี 2548 และลดลงเหลือร้อยละ 10 ในปี 2556 นับว่าความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นางปัทมวดี โพชนุกูล นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะเริ่มต้นดีด้วยการจัดเก็บอัตราที่ต่ำ แต่มองว่าจะก้าวทันการซื้อขายที่ดินในปัจจุบันหรือไม่ เพราะมีการซื้อขายกันสูงมาก เช่น ตามแนวชายแดน และมองว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินจะถูกผลักภาระไปยังผู้เช่าที่ดินให้มีภาระสูงขึ้น ส่งผลถึงการประกอบกิจการที่ดินซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้น การกระจายการถือครองไปยังเกษตรกรอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่มคุณภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วย
สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องการให้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนจน คนมีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองหลัก เพราะเมื่อเช่าอาศัยอาจต้องมีภาระค่าเช่าสูงขึ้น และควรสนุบสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน เพื่อให้กองทุนซึ่งตั้งขึ้นมาเองตามความต้องการของท้องถิ่นดูแลที่ดินในพื้นที่
สำหรับนโยบายการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชทางการเกษตร มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้สูงขึ้นอย่างไร ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์จากการถือครองอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับไปอยู่ในมือนายทุน
ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตนักวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรที่เป็นต้นทุนของมนุษย์ต่อระบบเศรษฐกิจของไทยนับว่ามีปัญหาในการพัฒนาคุณภาพเด็กนักเรียน เนื่องจากพบว่า คะแนนการสอบเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาสอบตกทุกวิชา
ขณะที่เด็กนักเรียนที่เก่งจะคะแนนสูงมากแต่ยังมีความเห็นแก่ตัว ทำให้อนาคตนำไปสู่ปัญหาใช้ความเก่งในการทุจริต ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงมากกว่า 500,000 ล้านบาท แต่ใช้เงินที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กน้อย การซื้ออุปกรณ์การเรียนเกิดคุณภาพแก่นักเรียนน้อย
ทั้งนี้ แม้ภาครัฐจ่ายเงินค่าวิทยฐานะสูงเฉลี่ย 37,000 บาทต่อเดือน แต่ครูนำวิชาไปสอนเด็กให้มีคุณภาพได้น้อยไม่สอดคล้องต่อเงินเดือน และวิทยฐานะ
ดังนั้น ครูควรเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา จึงต้องปฏิรูปการสอนของวิชาชีพครูใหม่ให้รักนักเรียน เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมองว่ามาตรการแก้ปัญหาหลายด้านไม่ได้นำประชาชน เกษตรกร เด็กนักเรียนเป็นตัวตั้งในการหวังผลแก้ปัญหา ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการตั้งโจทย์ที่ผิดตั้งแต่แรก
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องคำนึงถึงคนจน ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยถูกผลักภาระไปให้กลุ่มดังกล่าว ควรพิจารณาว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นจะพิจารณาจากสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สิน หรือประเมินจากปริมาณทรัพย์สิน หรือคำนวณโดยเริ่มอัตราต่ำ เพราะที่ดินในเมืองจะมีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ ควรแยกให้ชัดเจนในการเก็บภาษีโรงเรือน เพราะอาคารพาณิชย์ในเมืองชั้นล่างใช้ประกอบกิจการ แต่ใช้ประโยชน์ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย และภาษีที่ดินฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้เป็นเครื่องมือจัดทำโซนนิ่งปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด