xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีแบงก์ แจงผล Due Diligence เงินสำรองยังมั่นคง เล็งจัดแผนต่อสู้แรงกดดันนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอสเอ็มอีแบงก์ เผยผล Due Diligence จากบริษัทภายนอก เงินสำรองยังมั่นคง และสามารถรองรับแผนฟื้นฟูฯ ได้แน่นอน เผยมีการวางแนวทางปฏิบัติของพนักงาน ปฏิเสธนักการเมือง เพื่อต่อสู้ต่อแรงกดดัน

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (Due Diligence) เพื่อนำผลตรวจสอบแล้ว มาประกอบจัดทำแผนแก้ไขปัญหาองค์กร รวมถึงแนวทางป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต และให้นำเสนอ คนร. ภายใน 2 เดือน ธนาคารจึงได้ว่าจ้างให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสอบบัญชีระดับโลก และได้นำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

โดยสรุปความเห็น บริษัท อีวาย มีสาระสำคัญ ดังนี้ คือ 1. เอสเอ็มอีแบงก์ มีสินเชื่อปกติ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่างจากที่บันทึกไว้ในระบบบัญชีของธนาคารเล็กน้อย คือ NPL ควรเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท ดังนั้น ณ 30 มิถุนายน 2557 จำนวน 35,167 ล้านบาทร้อยละ 39.92 เมื่อบอร์ดชุดใหม่เข้ามาบริหารได้ลดลงเหลือ 33,850 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 38

ในส่วนเอสเอ็มอีแบงก์ ต้องมีเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย 14,556 ล้านบาท แต่ธนาคารมีเงินสำรองอยู่จริง 14,937 ล้านบาท จึงมีสำรองส่วนเกินมากกว่าเงินสำรองพึงกันเป็นจำนวน 381 ล้านบาท เงินสำรองที่ธนาคารมีอยู่มีความเพียงพอตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเข้มงวดกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ถือปฏิบัติ ขณะที่ บริษัทอีวาย มีความเห็นว่า สำรองพึงกันที่แท้จริงของธนาคาร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ควรจะสูงกว่าจำนวนเงินสำรองพึงกันที่ธนาคารระบุไว้ถึง 974 ล้านบาท

สาเหตุเนื่องมาจากข้อบกพร่องของหลักประกัน คือ ธนาคารไม่ได้ปรับปรุงราคาประเมินของหลักประกันทุกๆ 3 ปี ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติจะไม่สามารถนำหลักประกันเหล่านั้นมาหักออกจากยอดหนี้ในการคำนวณเงินสำรองได้ รวมถึง ธนาคารไม่ได้ให้บุคคลภายนอกประเมินราคาหลักประกันของ NPL ที่มียอดหนี้ระหว่าง 25-50 ล้านบาท จึงไม่สามารถนำหลักประกันมาหักออกยอดหนี้ในการกันสำรองได้ ตามข้อบังคับของกระทรวงการคลังกำหนดให้ SFIs จ้างบุคคลภายนอกประเมินราคาหลักประกันของ NPL ที่มียอดหนี้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หลักเกณฑ์ของ ธปท.และกระทรวงการคลังซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เงินสำรองเพียงพอรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการธนาคาร

ธนาคารจึงได้นำส่งแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ต่อ สคร. ในขั้นต่อไป โดยแยกการบริหารองค์กรระหว่างหนี้ดีและหนี้เสียให้ชัดเจน ในส่วนของหนี้เสียได้แร่งแก้ปัญหา NPL ที่อยู่ในระดับสูง ณ เดือน กันยายนนี้ มูลค่า 33,850 ล้านบาท โดยการนำสินเชื่อ NPL สำหรับรายที่หยุดดำเนินกิจการไปแล้วจำนวน 110 ราย มูลหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาท ภายในปี 57 โดยทยอยนำออกประมูลขาย

นอกจากนี้ ยังเตรียมขอเงินชดเชยของกระทรวงการคลังในการดำเนินการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายขอรัฐ จากปัญหาการเมืองราชประสงค์ ปัญหาอุทกภัยปลายปี 54 ปัญหาในภาคใต้ วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มียอดหนี้ NPL ลดลง

สำหรับการดูแลหนี้ดี (Good bank) เน้นการปล่อยสินเชื่อโดยเน้นปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจให้กับรายย่อยต่ำกว่า 15 ล้านบาท ให้มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของสินเชื่อรวม เพื่อลดปัญหาการปล่อยสินเชื่อการฝากฝังจากภาคการเมือง เพื่อลดความเสียหายต่อองค์กร ขณะนี้ยอดสินเชื่อคุณภาพดีมีจำนวน 52,928 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.08 ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ยังจะมีการวางแนวทางปฏิบัติของพนักงานปฏิเสธนักการเมืองต่อสู้ต่อแรงกดดัน รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น