เอสเอ็มอีแบงก์เผยผล Due Diligence จากบริษัทภายนอก ระบุเงินสำรองมั่นคงรองรับการฟื้นฟูได้แน่นอน เผยมีการวางบทบาทพนักงานปฏิเสธพลังมืดของนักการเมือง
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (Due Diligence) เพื่อนำผลตรวจสอบแล้วมาประกอบจัดทำแผนแก้ไขปัญหาองค์กร รวมถึงแนวทางป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต และให้นำเสนอ คนร. ภายใน 2 เดือน ธนาคารจึงได้ว่าจ้างให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสอบบัญชีระดับโลก และได้นำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557
โดยสรุปความเห็น บริษัท อีวาย มีสาระสำคัญดังนี้ คือ 1. เอสเอ็มอีแบงก์มีสินเชื่อปกติ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่างจากที่บันทึกไว้ในระบบบัญชีของธนาคารเล็กน้อย คือ NPL ควรเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท ดังนั้น ณ 30 มิถุนายน 2557 จำนวน 35,167 ล้านบาท ร้อยละ 39.92 เมื่อบอร์ดชุดใหม่เข้ามาบริหารได้ลดลงเหลือ 33,850 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 38
2.ในส่วนเอสเอ็มอีแบงก์ต้องมีเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย 14,556 ล้านบาท แต่ธนาคารมีเงินสำรองอยู่จริง 14,937 ล้านบาท จึงมีสำรองส่วนเกินมากกว่าเงินสำรองพึงกันเป็นจำนวน 381 ล้านบาท เงินสำรองที่ธนาคารมีอยู่มีความเพียงพอตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเข้มงวดกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ถือปฏิบัติ ขณะที่ บริษัทอีวาย มีความเห็นว่า สำรองพึงกันที่แท้จริงของธนาคาร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ควรจะสูงกว่าจำนวนเงินสำรองพึงกันที่ธนาคารระบุไว้ถึง 974 ล้านบาท
สาเหตุเนื่องมาจากข้อบกพร่องของหลักประกัน คือ ธนาคารไม่ได้ปรับปรุงราคาประเมินของหลักประกันทุกๆ 3 ปี ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติจะไม่สามารถนำหลักประกันเหล่านั้นมาหักออกจากยอดหนี้ในการคำนวณเงินสำรองได้ รวมถึงธนาคารไม่ได้ให้บุคคลภายนอกประเมินราคาหลักประกันของ NPL ที่มียอดหนี้ระหว่าง 25-50 ล้านบาท จึงไม่สามารถนำหลักประกันมาหักออกยอดหนี้ในการกันสำรองได้ ตามข้อบังคับของกระทรวงการคลังกำหนดให้ SFIs จ้างบุคคลภายนอกประเมินราคาหลักประกันของ NPL ที่มียอดหนี้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หลักเกณฑ์ของ ธปท.และกระทรวงการคลังซึ่งมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เงินสำรองเพียงพอรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการธนาคาร
ธนาคารจึงได้นำส่งแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ต่อ สคร.ในขั้นต่อไป โดยแยกการบริหารองค์กรระหว่างหนี้ดีกับหนี้เสียให้ชัดเจน ในส่วนของหนี้เสียได้เร่งแก้ปัญหา NPL ที่อยู่ในระดับสูง ณ เดือนกันยายนนี้ มูลค่า 33,850 ล้านบาท โดยการนำสินเชื่อ NPL สำหรับรายที่หยุดดำเนินกิจการไปแล้วจำนวน 110 ราย มูลหนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาท ภายในปี 57 โดยทยอยนำออกประมูลขาย
นอกจากนี้ ยังเตรียมขอเงินชดเชยของกระทรวงการคลังในการดำเนินการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐ จากปัญหาการเมืองราชประสงค์ ปัญหาอุทกภัยปลายปี 54 ปัญหาในภาคใต้ วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มียอดหนี้ NPL ลดลง
"ผลการสอบทานของบริษัท อีวาย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ธนาคารมีเงินสำรองเพียงพอรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการธนาคาร นอกเหนือจากผลการทำ Due Diligence แล้ว ธนาคารจะนำส่งแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ที่เป็นรูปธรรมต่อ สคร.โดยเร็วต่อไป โดยมั่นใจว่าสามารถนำส่งได้ก่อนวันครบกำหนด คือ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 และธนาคารจะเดินหน้าทำพันธกิจในการสนับสนุน SMEs โดยเฉพาะรายย่อยในต่างจังหวัดต่อไป" นางสาลินี กล่าว
สำหรับการดูแลหนี้ดี (Good bank) เน้นการปล่อยสินเชื่อโดยเน้นปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจให้แการายย่อยต่ำกว่า 15 ล้านบาท ให้มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของสินเชื่อรวม เพื่อลดปัญหาการปล่อยสินเชื่อการฝากฝังจากภาคการเมือง เพื่อลดความเสียหายต่อองค์กร ขณะนี้ยอดสินเชื่อคุณภาพดีมีจำนวน 52,928 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.08 ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ยังจะมีการวางแนวทางปฏิบัติของพนักงานปฏิเสธนักการเมืองต่อสู้ต่อแรงกดดัน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *