xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” รอดตาย! โชว์ผลกำไรไตรมาส 3 พุ่ง 157 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์
เอสเอ็มอีแบงก์เผยผลประกอบการไตรมาส 3 โชว์กำไร 157 ล้านบาท เตรียมเร่งแก้ NPL ต่อเนื่อง เรียกคืนความเชื่อมั่น เดินหน้าปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้นหวังกระจายความเสี่ยง ระดม 4 แผนหลักฟื้นฟูธนาคาร ฟุ้งสินเชื่อ 9 เมนู ลูกค้าแห่ขอกู้เพียบ ยื่นกู้แล้ว 3 พันล้านบาท

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยผลการดำเนินงานหลังจากมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารธนาคารฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมาว่า ระยะเวลา 3 เดือนที่เข้ามาบริหารธนาคารนั้นเห็นผลการดำเนินงานชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล:NPL) พบว่า ณ สิ้นกันยายน 2557 มีเอ็นพีแอลจำนวน 33,850 ล้านบาท (คิดเป็น 39% ของสินเชื่อรวม) เปรียบเทียบกับ มิถุนายน 2557 จำนวน 34,907 ล้านบาท (คิดเป็น 40% ของสินเชื่อรวม) หรือลดลง 1,057 ล้านบาท โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 2557 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อตั้งสำรอง 1,099 ล้านบาท และเมื่อหักสำรองส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปีนี้ (ก.ค.-ก.ย. 57) มีกำไรสุทธิ 157 ล้านบาท จากในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 57) ขาดทุน 41 ล้านบาท สำหรับกำไรดังกล่าวเกิดจากภาระการตั้งสำรองลดลง เพราะธนาคารสามารถป้องกันลูกหนี้ที่มีสถานะจัดชั้นปกติไม่ให้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลได้ และสามารถแก้ไขหนี้ในส่วนที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 7.07% ณ เดือนมิถุนายน 2557 เป็น 7.54% ณ เดือนกันยายน 2557

ขณะที่สินเชื่อคงค้าง ณ เดือนกันยายน 2557 มีจำนวน 86,099 ล้านบาท ลดลง 2,000 ล้านบาท จากเดือนมิถุนายน 2557 ที่มีจำนวน 88,095 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากการรับชำระหนี้และลูกหนี้ของธนาคารที่มีวงเงินขนาดใหญ่และแข็งแรงแล้วได้ปิดบัญชีและ Refinance ไปสถาบันการเงินอื่น ขณะเดียวกัน แม้ธนาคารจะได้ลูกหนี้ในการปล่อยสินเชื่อใหม่มาจำนวนหนึ่งก็ยังไม่สามารถทดแทนวงเงินดังกล่าว อีกทั้งธนาคารอยู่ระหว่างการปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อใหม่ โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อรายย่อยวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ดังนั้น จำนวนรายลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น แต่ยอดวงเงินรวมเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม จากการปรับนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เน้นภารกิจหลักการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ทำให้ในไตรมาส 3 อัตราส่วนยอดเบิกจ่ายสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อวงเงินเกิน 15 ล้านบาท มีสัดส่วน 66% ต่อ 34% เทียบกับครึ่งปีแรกมีสัดส่วน 53% ต่อ 47%

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโครงการ “สินเชื่อ 9 เมนู คืนความสุข SMEs ” โดยหลังจากธนาคารได้เดินสายปล่อยสินเชื่อครบทุกภูมิภาค พบว่ามีลูกค้าทยอยเข้ามาขอสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยรายละ 1-2 ล้านบาท โดยธนาคารจะเร่งอนุมัติสินเชื่อโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้

“ลูกค้ารายย่อยที่เข้ามาขอสินเชื่อในโครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเกรดบี ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารเอกชน หรือธนาคารพาณิชย์ได้ ดังนั้นทางเอสเอ็มอีแบงก์จึงเป็นที่พึ่งในการปล่อยสินเชื่อให้ได้ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างแท้จริง ดังนั้นเราถือว่าการปล่อยสินเชื่อลักษณะนี้ตรงตามนโยบายที่ธนาคารของภาครัฐต้องเข้าไปสนับสนุน” นางสาลินี กล่าว

ทางเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อจากโครงการนี้ ณ สิ้นปี 58 ที่ 19,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าขอสินเชื่อราว 10,000 คน โดยจากการยื่นขอสินเชื่อเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งโครงการดังกล่าวน่าจะดำเนินการได้ตรงตามเป้าก่อนกำหนดที่ตั้งไว้สิ้นปี จากผลตอบรับของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สูงมาก
ตารางสรุปผลการดำเนินงานเอสเอ็มอีแบงก์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น