xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์SMEส่งสัญญาณฟื้นคาดไตรมาสที่3พลิกกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์เอสเอ็มอีมีอนาคต เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 กำไร 157 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกขาดทุน 41 ล้าน เพราะภาระการตั้งสำรองลดลง ส่งผลเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มจาก 7.07% ณ มิ.ย. เป็น 7.54% ณ ก.ย.57 เล็งเสนอแผนปรับโครงสร้างให้กระทรวงคลังในเดือน พ.ย.นี้ โวการเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 15 ล้านบาท ช่วยจำกัดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากการปล่อยกู้รายใหญ่ ทำให้ธนาคารมีภูมิคุ้มกัน

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/57 (ส.ค.-ก.ย.) ว่า ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิ 157 ล้านบาท จากในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ขาดทุน 41 ล้านบาท เนื่องจากภาระการตั้งสำรองลดลง เพราะธนาคารสามารถป้องกันลูกหนี้ที่มีสถานะจัดชั้นปกติไม่ให้ตกชั้นเป็น NPL และสามารถแก้ไขหนี้ในส่วนที่เป็น NPL ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 7.07% ณ มิ.ย. 57 เป็น 7.54% ณ ก.ย.57

ด้านสินเชื่อคงค้าง ณ ก.ย.57 เท่ากับ 86,099 ล้านบาท ลดลง 2,000 ล้านบาท จาก มิ.ย. 57 ที่มีจำนวน 88,095 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากการรับชำระหนี้และลูกหนี้ของธนาคารที่มีวงเงินขนาดใหญ่และแข็งแรงแล้วได้ปิดบัญชีและ Refinance ไปสถาบันการเงินอื่น ขณะเดียวกันแม้ธนาคารจะได้ลูกหนี้ในการปล่อยสินเชื่อใหม่มาจำนวนหนึ่ง ก็ยังไม่สามารถทดแทนวงเงินดังกล่าว

ด้านเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 7.07% เป็น 7.54% ขณะที่ NPL ณ สิ้นก.ย. 57 จำนวน 33,850 ล้านบาท (คิดเป็น 39% ของสินเชื่อรวม) เปรียบเทียบกับ มิ.ย.57 จำนวน 34,907 ล้านบาท (คิดเป็น 40% ของสินเชื่อรวม) หรือลดลง 1,057 ล้านบาท.

นางสาลินีกล่าวว่า สามารถส่งแผนปรับปรุงโครงสร้างให้กับกระทรวงการคลังได้ทันภายในเดือน พ.ย.57 นี้ หลังจากที่ได้เสนอแผนปรับปรุงโครงสร้าง การจำแนกมูลหนี้ให้กับสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปแล้ว 4 ครั้ง

ขณะที่การขายหนี้เสียกว่า 20,000 ล้านบาทก็จะต้องมีการแยกบัญชีหนี้ที่รัฐต้องให้การสนับสนุน (พีเอสเอ) และว่าจ้างเอกชนแบ่งหนี้เสียเพื่อทยอยขายออกเป็นหลายกองตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นไป เพื่อให้ได้ราคาไม่ต่ำจนเกินไป

ทั้งนี้ การเร่งเน้นการปล่อยสินเชื่อใหม่วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ทำให้จำนวนรายลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น แต่ยอดวงเงินสินเชื่อโดยรวมคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งในช่วงไตรมาส 3/57 อัตราส่วนยอดเบิกจ่ายสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อวงเงินที่เกินกว่านั้น มีสัดส่วน 66 % ต่อ 34% เทียบกับครึ่งปีแรกมีสัดส่วน 53% ต่อ 47% โดยตั้งเป้าปี 58 จะต้องมีสัดส่วน 80% ต่อ 20% ขณะเดียวกันได้ตั้งฝ่ายติดตามดูแลคุณภาพลูกหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีลูกหนี้ตกชั้นเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงการปรับระบบตรวจสอบ โดยคณะกรรมการชุดใหม่จะเน้นเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล โดยมีกระบวนการสอบทานและการควบคุม โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการสินเชื่อ ให้คานอำนาจระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดและเจ้าหน้าที่ด้านวิเคราะห์สินเชื่อ

นอกจากนั้น การเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 15 ล้านบาทตามภารกิจของธนาคาร เป็นการจำกัดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากการปล่อยกู้รายใหญ่ และเชื่อว่าเมื่อนำระบบนี้มาใช้แล้ว จะช่วยให้ธนาคารมีภูมิคุ้มกันแม้สภาวะแวดล้อมภายนอกจะเปลี่ยนไปในอนาคต

“เป้าหมายที่วางไว้เมื่อสิ้นสุดปี 58 วงเงินสินเชื่อรวมจะต้องอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท หรือสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ และใช้หมุนเวียนได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท”นางสาลินี กล่าวและว่า แผนฟื้นฟูธนาคาร เน้น 4 เรื่องหลัก คือ 1. การขยายสินเชื่อให้เป็นไปตามภารกิจ ในวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท โดยมีการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ อำนวยความสะดวกให้ผู้มาขอสินเชื่อทั้งด้านการประเมินราคาหลักประกัน รวมถึงการจัดทำเอกสารต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้การอนุมัติสินเชื่อทำได้รวดเร็ว พร้อมบริการให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ ภายหลังจากอนุมัติสินเชื่อแล้ว โดยได้ดำเนินการไปแล้วมากพอสมควร แต่ไม่ทิ้งเรื่องการดูแลความเสี่ยง

2.การบริหารจัดการลูกหนี้ NPL เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเร่งขยายสินเชื่อตามพันธกิจ ในขณะนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองครบถ้วนแล้ว รวมทั้งธนาคารยังมีสำรองส่วนเกินอีก 1,369 ล้านบาท NPL เหล่านี้จึงมิได้ก่อภาระทางการเงินเพิ่มให้แก่ธนาคาร เพียงแต่ทำให้ธนาคารเสียโอกาสในเรื่องดอกเบี้ยรับ และไม่สามารถเปลี่ยนลูกหนี้กลับมาเป็นเงินสดเพื่อใช้ขยายสินเชื่อต่อได้อีก รวมถึงธนาคารสิ้นเปลืองในการจัดหาพนักงานมาดูแลลูกหนี้ NPL ที่ยังค้างอยู่

3.การบริหารจัดการสภาพคล่อง ธนาคารมีแนวทางเพิ่มระยะเวลาของเงินฝากให้ยาวขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและความเชื่อมั่นที่สาธารณชนมีต่อธนาคาร และ 4.การบริหารจัดการบุคลากร ธนาคารพยายามจัดสรรพนักงานจากด้านสนับสนุนให้มาอยู่ด้านหารายได้ หรือด้านอื่นๆ ที่จำเป็นเชื่อมโยงกับงานด้านสินเชื่อของธนาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น