xs
xsm
sm
md
lg

“ทุนจีนรุกอาเซียน” หวังกำลังซื้อมหาศาลในตลาด AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จีนตระหนักถึงศัยภาพของ “ตลาดทุน” ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงพยายามผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ข้อบังคับในการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดทุนจีนมากขึ้น



นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูตไทย (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระบุถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกไม่ให้ความสำคัญต่อตลาดทุนจีน เนื่องจาก “จีน” มีข้อแตกต่างในด้านการเมืองการปกครอง และรูปแบบการซื้อขายหลักทรัพย์ที่แตกต่างกับประเทศในโลกเสรี แต่รัฐบาลจีนเห็นความสำคัญของ “ตลาดทุน” ที่สามารถเชื่อมโยงเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกเข้ามากระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้อย่างมาก ดังนั้น จึงพยายามที่จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติทั่วโลก รวมถึงเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในทางอ้อมด้วย
 
“การซื้อขายหุ้นแบบ “แยกกระดาน” ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลทั้งสิ้น ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงพยายามที่จะออกกฎข้อบังคับ และระเบียบวิธีการต่างๆ ให้ผ่อนคลายลง เพื่อสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศจีนมากขึ้น  เพราะจีนมองว่า ตลาดทุนจะเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศให้เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างรวดเร็ว”

อัครราชทูตไทย (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วิเคราะห์แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ว่า ทุกฉบับโดยเฉพาะฉบับล่าสุด มีภาพที่ชัดเจนว่า จีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็น “มหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของเอเชีย”  แทนที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จีน จึงวางแผน และมีความพยายามผลักดัน “เงินสกุลหยวน” ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก  ภายใต้ความพยายามดังกล่าว สิ่งที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือ จีนพยายามที่จะเพิ่มอุปสงค์ของเงินหยวนในตลาดโลก ด้วยการเชื่องโยงเงินหยวนผ่านประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น ในประเทศอังกฤษ  เยอรมันนี และประเทศอื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้การใช้ “เงินหยวน” แทรกซึมเข้าไปในทุกภูมิภาค

นายไพจิตร คาดว่า จีนจะต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อยประมาณ 6 ปี เพื่อที่จะให้เงินสกุลหยวน เข้าไปมีบทบาทแพร่หลายในตลาดโลก เช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินสกุลยูโร และหนึ่งในเครื่องมือหลักที่จะยกระดับเงินหยวนให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกคือ การตั้งให้มหานครเซี่ยงไฮ้ เป็น Free Trade Zone โดยรัฐบาลจีนให้สิทธิเสรีในการแลกเปลี่ยนเงินหยวน และเงินตราต่างประเทศ รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้อย่างเสรีเพื่อเพิ่มความคล่องตัวด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา Free Trade Zone ประสบความสำเร็จอย่างมากในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน และถือเป็นฐานกระจายเม็ดเงินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จีนจึงเตรียมที่จะขยายไปยังเมืองสำคัญๆ อื่นๆ ของประเทศ โดยรัฐบาลจีนเตรียมวางแผนที่จะเปิด Free Trade Zone อีก 2 แห่ง คือ เทียนจิน และชิงเต่า ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. และสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงตลาดหุ้นไทยเข้ากับตลาดหุ้นจีน ทั้ง 3 ตลาดคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาหมุนเวียนในตลาดหุ้นไทย  ด้วยการส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างกัน โดยล่าสุด ได้มีการพิจารณา “ในเชิงลึก” ด้านการเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงินและการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกันให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการขยายวงเงินการลงทุนระหว่างประเทศในรูปของเงินหยวน เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น

ขณะที่ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai มีแผนการที่จะผลักดันผู้ประกอบการ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ให้มีศักยภาพด้านการแข่งขัน และตระหนักถึงการขยายโอกาสทางธุรกิจเข้าไปในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรีอ AEC โดยภายในปี 2558 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ mai มีโครงการ ที่จะคัดเลือกผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด mai เดินทางไปสำรวจความต้องการของตลาดจีน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทยให้มีศักยภาพเติบโตนอกเหนือจากกลุ่ม 10 ประเทศใน AEC เนื่องจาก SME ของจีนมีขนาดใหญ่เทียบเท่าบริษัทจดทะเบียนของไทย ซึ่งหากสามารถดึงผู้ประกอบการ SME เหล่านั้นให้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียนของไทยได้ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในส่วนความก้าวหน้า และการเติบโตไปใน AEC ในอนาคตได้ และหากบริษัทจดทะเบียนใน SET สามารถทำ Dual Listing กับตลาดหุ้นจีนได้ การที่บริษัทจดทะเบียนใน mai ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก

“บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai ที่มีศักยภาพมีหลายบริษัทได้เข้าไปสำรวจความต้องการของตลาดอาเซียน และเข้าไปลงทุนบ้างแล้วประมาณ 10 บริษัท และมีบางส่วนที่ทำสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ ส่วนตลาดประเทศจีนนั้นมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ มีกำลังซื้อสูงจากจำนวนประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดย mai เองก็เตรียมที่มีจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การหารือในสมาคมบริษัทจดทะเบียน และผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น mai ในการเข้าไปสำรวจความต้องการของตลาดจีน และโอกาสการลงทุน ตลอดจนถึงการขยายตลาดการลงทุน เพราะจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ การเข้าไปลงทุนจึงไม่ง่ายนักต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างรอบคอบ”

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บริหาร บจ.ในตลาดหลักทรัยพ์ mai กังวลเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ และความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุน เนื่องจากความแตกต่างของระบบตลาดทุนที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้น การทำธุรกรรมร่วมกันในช่วงแรกอาจเป็นการเข้าไปหาพันธมิตรร่วมลงทุน นำเข้า-ส่งออก พร้อมแนะนำ 4 ข้อสังเกตที่พึงตระหนัก คือ 1.เงินทุนของบริษัทจดทะเบียนของคู่สัญญา 2.ตรวจสอบพิจารณาอัตราระดับความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ และกำไรของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน  3.โอกาสทางธุรกิจ  และ 4.ปัจจัยความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น