xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เปิดบ้านเผยภารกิจคลังก๊าซเขาบ่อยา หัวใจกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปตท.เปิดบ้านเผยภารกิจคลังก๊าซเขาบ่อยา หัวใจสำคัญกระจายก๊าซไปยังกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้

วันนี้ (22 ต.ค.) ที่ศูนย์ฝึกอบรมคลังก๊าซเขาบ่อยา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายกฤษณ์ อิ่มแสง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติการจัดหาและคลัง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายสุรัฐ เจียมเลิศวิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายคลังปิโตรเลียมส่วนกลาง ดูแลงานด้านจัดหาและจัดส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภาคตะวันออก ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชน จ.ชลบุรี ร่วมงานสัมมนาและศึกษาดูงานการดำเนินธุรกิจของ ปตท. โดยมีนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมาให้ความรู้แก่สื่อมวลชนกว่า 40 คน

นายกฤษณ์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ ปตท. คือ สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ โดยมุ่งแสวงหาพลังงานจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อการันตีว่าประเทศไทยจะมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และจะไม่เกิดวิกฤตการณ์พลังงานซ้ำปี 2521

สำหรับ ปตท.มีคลังน้ำมัน และก๊าซ 3 แห่ง คือ คลังน้ำมันศรีราชา คลังก๊าซเขาบ่อยา คลังก๊าซโรงโป๊ะ โดยคลังน้ำมันศรีราชา รับน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ไทยออยล์ หรือจาก จ.ระยอง จากนั้นจะจ่ายให้แก่ลูกค้าทางเรือ และทางรถยนต์ คลังน้ำมันโรงโป๊ะ ซึ่งเดิมรับก๊าซมาจาก จ.ระยอง ปัจจุบันรับจากคลังเขาบ่อยา เพื่อนำไปจ่ายให้แก่ลูกค้าในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ส่วนคลังก๊าซเขาบ่อยา เป็นคลังก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ ปตท. เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีภารกิจจ่ายก๊าซแอลพีจีให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคใต้ และขณะนี้กำลังสร้างถังเก็บก๊าซให้ได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ซึ่งปัจจุบัน มีถังเก็บสำรองผลิตภัณฑ์ 11 ถัง ประกอบด้วย ถังรูปทรงกลมขนาดบรรจุ 2,000 ตัน 6 ใบ เพื่อสำรองเก็บก๊าซปิโตรเลียม ถังรูปทรงกระบอก 2 ชั้น ขนาดบรรจุ 10,000 ตัน 2 ใบ เพื่อเก็บสำรองก๊าซโพรเพน ถังรูปทรงกระบอก ขนาดบรรจุ 8 ล้านลิตร 2 ใบ เพื่อสำรองก๊าซโซลีนธรรมชาติ และถังรูปทรงกระบอก ขนาดบรรจุ 70 ล้านลิตร 1 ใบ สำหรับเก็บสำรองผลิตภัณฑ์น้ำมัน

นายกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับคลังก๊าซเขาบ่อยา ยังมีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยาว 1,300 เมตร 3 ท่า รับเรือขนาด 2,000 ตัน 5,000 ตัน และ 100,000 ตัน เพื่อการขนส่งภายในประเทศ และนำเข้า-ส่งออก ซึ่งปัจจุบันการขนถ่ายไม่ทัน จึงไปขนถ่ายก๊าซจากเรือใหญ่ลงเรือเล็ก ซึ่งไม่มีความปลอดภัยเท่าที่ควร แต่ในอนาคตจะไม่มีอีกแล้ว เพราะ ปตท.ได้ขยายท่าเทียบเรือ และถังเก็บก๊าซเพิ่มขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2558



กำลังโหลดความคิดเห็น