xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองคำเริ่มทรงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงระยะเวลา  7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศเคลื่อนไหว “ทรงตัว” โดยเคลื่อนไหวสูงสุดระหว่าง 18,650-18,750 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท และต่ำสุดระหว่าง 18,450-18,550 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,211.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ประมาณ 32.26-32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

     ทำให้คาดการณ์ว่าระยะสั้น ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,210.50-1,224.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,300-18,900 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท
ซึ่งเป็นราคาเหมาะสมของการสะสมทองคำสำหรับนักลงทุนในประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อยู่ในฐานะที่สามารถสะสมสินทรัพย์ปลอดภัยได้

    ส่วนกรณีที่มีผู้พยายามสร้างกระแสว่าราคาทองคำในประเทศ จะปรับตัวลงต่ำกว่า 18,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาทนั้น อยากฝากให้นักลงทุนพิจาณาจากพื้นฐานจริงที่เกิดขึ้นประกอบด้วยว่า จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะหากเชื่อโดยไร้หลักการอาจ “ขาดทุน” หรือเสียโอกาสที่ดีที่จะเข้าลงทุนในราคาเหมาะสม เพราะหากราคาดีดกลับขึ้นไปก็ไม่สามารถเข้าสะสมได้  เนื่องจากผู้ประกอบการโกลด์ฟิวเจอร์สบางรายนิยมซื้อโฆษณาหน้าหนังสือพิมพ์ ลงบทสัมภาษณ์อันมีลักษณะ “ชี้นำ” ราคาทองหากนักลงทุนเชื่อตามอาจเข้าข่าย “ถูกลาก” ขึ้น-ลงจน “ติด” ได้ ดังนั้น การอ่านบทสัมภาษณ์ หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ควรต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าเป็น “หน้าโฆษณา” หรือรายงานข่าวจริง เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงในการพิจารณาประกอบการลงทุน

    ราคาทองคำในตลาดโลกระยะสั้นยังคงมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มกองทุนเฮดจ์ฟันด์ หันไปลงทุนในหุ้นแทน เพราะให้ผลตอบแทนได้มาก และรวดเร็วกว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมากล่าวอ้างว่า “ภาพเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ควรระวังว่าจะกลายเป็นการสร้างภาพของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ดูว่าประเทศตนเองเป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น  เพราะแม้แต่จีน  เยอรมนีเองก็ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว  

    ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาถูกนานาประเทศตำหนิหลายครั้งเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในลักษณะ “ขาดความรับผิดชอบ” ต่อระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE ถึง 3 หนเพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่มาตรการดังกล่าวกลับส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินในตลาดเศรษฐกิจโลก รวมถึงทำให้เกิดภาวะกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างไม่เป็นระบบ สร้างความเสียหายให้แก่ตลาดทุนหลายประเทศในโลก และจนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ 0-0.25%  มานานตั้งแต่ปี 2008  ที่สำคัญการส่งสัญญาณแต่ละครั้งของเฟด ก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เริ่มตั้งแต่การประชุมประจำเดือนกรกฎาคม ที่มีการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสิ้นสุดมาตรการ QE สิ้นเดือนตุลาคม  แต่ผลการประชุมประจำเดือนกันยายน กลับประกาศว่าจะยังคงดำเนินมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงกลางปี 2558 จุดยืนที่ไม่แน่นอนดังกล่าว “หลอน” นักลงทุนทั่วโลกอยู่ทุกวินาที อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของสหรัฐฯ เข้าไปแสวงหาผลกำไรในประเทศที่หลงเชื่อถ้อยแถลงดังกล่าว

      ผลจากการที่เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกายังคงซบเซาทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง ส่งผลให้รัฐบาลต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้มีรายได้เข้าสู่ประเทศทุกทาง จึงมีกฎระเบียบใหม่ออกมาเพื่อเก็บภาษีจากบริษัทเอกชนที่ต้องการลดภาระด้านภาษีด้วยการย้ายสำนักงานใหญ่ของตนออกไปตั้งในประเทศที่มีอัตราภาษีน้อยกว่า นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าวได้ส่งผลห้ามมิให้มีการกู้ยืมเงินทุนต่างชาติโดยไม่ต้องเสียภาษีในประเทศสหรัฐฯ อีกต่อไป

    กฎระเบียบที่กล่าวถึง มี 3 มาตรการสำคัญ คือ 1.ยับยั้งไม่ให้บริษัทเหล่านั้นมีช่องทางเข้าถึงรายได้จากที่เกิดจากบริษัทลูกในต่างประเทศ โดยไม่จ่ายภาษีให้แก่สหรัฐอเมริกา  2.ยับยั้งการปล่อยสินเชื่อแบบ “ก้าวกระโดด” ที่บริษัทลูกจะปล่อยวงเงินสินเชื่อให้แก่บริษัทแม่แห่งใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่บริษัทเหล่านั้นใช้ในการโยกย้ายรายได้ และ 3.แก้ไขกฎหมายให้บริษัทอเมริกันที่ควบรวมกิจการ และถือหุ้นในสัดส่วน 50% ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาล จากเดิมที่ระบุว่า  บริษัทอเมริกันสามารถลดภาระการจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลได้ กรณีที่ถือหุ้นสัดส่วนไม่ถึง 80% ในบริษัทที่ควบรวมใหม่   โดยทั้ง 3 มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ในทันที

    กฎระเบียบดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทขนาดใหญ่ 8 แห่งที่อยู่ระหว่างควบรวมกิจการ ทำให้บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่กำลังจะซื้อกิจการบริษัทต่างประเทศเพื่อย้ายสำนักงานใหญ่ออกไป โดยยังคงมีธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีทำได้ยากมากขึ้น
    
     วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 มีสาเหตุมาจากระบบการเงินในสหรัฐอเมริกา แต่กลับส่งผลกระทบระยะยาวในหลายประเทศทั่วยุโรป โดย เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยูโรโซนที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก 3 สถาบันการเงิน  แม้แต่สเปนซึ่งขอความช่วยเหลือด้านการเงินสูงถึง 100,000 ล้านยูโร เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารกลางสเปน  และสเปนเป็นประเทศเดียวที่สามารถชำระคืนเงินทั้งหมดได้ภายในปีนี้ และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีแนวโน้มที่จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาสดใสได้ภายในปีนี้เช่นกัน  โดยสเปนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2/14 ถึง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 6 ปี

    หลังจากนายกรัฐมนตรีสเปน เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 2008 ก็ได้มีการลงนามในข้อตกลง 14 ฉบับในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคม  พลังงานนิวเคลียร์  และการเงิน ซึ่งการทำข้อตกลงครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างจีน และสเปนมีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนจีนกลายเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากสเปนเป็นอันดับ 3  รองจากเยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รวมถึงสเปนกลายเป็นประเทศส่งสินค้าออกอันดับที่ 13 และเป็นแหล่งลงทุนอันดับที่ 17 ของจีนในปัจจุบัน

จะขอกล่าวถึงผลการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ หรือ G20 ที่ประเทศออสเตรเลีย มีการออกมาส่งสัญญาณอย่างแน่ชัดจากจีนว่า จะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีน มากไปกว่าการขยายการจ้างงาน และการสร้างเสถียรภาพด้านราคา ที่ทำให้การเติบโตในปัจจุบันมีเสถียรภาพดีอยู่แล้ว  และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 2 ครั้ง ตลอดจนลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 14 วันลง 0.2% เพื่อลดต้นทุนกู้ยืมระยะสั้น และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบถึง 5 แสนล้านหยวน ด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 3 เดือนให้แก่ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ของจีน  

     ผู้เขียนขอสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนซบเซาเกิดจากภาคอสหังหาริมทรัพย์เริ่มซบเซาลงตั้งแต่ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนประมาณ 15% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP รวมถึงการประกอบการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอีกกว่า 40 ธุรกิจ ทำให้รัฐบาลจีนสนับสนุนให้ธนาคารรัฐเร่งการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ซื้อบ้าน โดยล่าสุด มีอีก 2 ธนาคารใหญ่ของรัฐบาล คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรจีน และธนาคารแบงก์ออฟไชน่า ออกนโยบายให้สาขาทั่วประเทศเพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ต้องการซื้อบ้าน หวังกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว  ส่งผลให้ธนาคารขนาดใหญ่ รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นกว่า 30 พื้นที่ทำตาม โดยธนาคารเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมจีน และธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน ผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการซื้อบ้าน โดยประกาศให้ผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก และผ่อนชำระหมดแล้วสามารถซื้อบ้านหลังที่ 2 ได้ด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการด้านสินเชื่ออื่นดำเนินนโยบายตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น