xs
xsm
sm
md
lg

แจงผลประกอบการธนาคารของรัฐ 7 เดือนแรก โกยกำไรไปแล้ว 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สศค.” แจงผลประกอบการธนาคารของรัฐ 7 เดือนแรก โกยกำไรไปแล้ว 2 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 4 พันล้าน จากเดือนก่อน สินเชื่อยังขยายตัวได้ดี ยอดเอ็นพีแอลพุ่งแตะ 2 แสนล้าน คิดเป็น 5.5% ของสินเชื่อรวม แต่ฐานะเงินกองทุนไม่น่าห่วง เพียงพอต่อการดำเนินงาน

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนเงินรับฝากขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า

โดยภาพรวมผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในเดือน ก.ค. พบว่า มีกำไรสุทธิสะสม 2.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 พันล้านบาท จากเดือน มิ.ย.ที่มีกำไรสะสม 1.66 หมื่นล้านบาท แต่ลดลง 2.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่มูลค่าของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่มียอดหนี้เอ็นพีแอลรวม 1.99 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.5% ของสินเชื่อรวม และมีการตั้งสำรองเอ็นพีแอลไว้ที่ 150% ของหนี้เอ็นพีแอล

สัดส่วนด้านสภาพคล่องของธนาคารรัฐปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100.3% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ ขณะที่อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (บีไอเอส เรโช) ในเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 10.88% ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป

ทั้งนี้ภาพรวมผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 2 พบว่า ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น แม้ว่าสินเชื่อขยายตัวในอัตราที่ลดลง แต่คุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

โดยสิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีกำไรสุทธิ 1.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 9.4 พันล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย และรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และมีอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ลดลงเล็กน้อยจาก 2.7% ในไตรมาสแรก เป็น 2.5%

ขณะที่อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ บีไอเอส เพิ่มขึ้นจาก 10.5% มาอยู่ที่ 10.9% อยู่ในระดับเพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยังได้มีการกันสำรองอยู่ในระดับที่สูง เพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจ

สำหรับสินเชื่อช่วงไตรมาส 2 ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอน โดยแบ่งเป็น 1. สินเชื่ออุปโภคบริโภค คิดเป็น 63.8% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2. สินเชื่อธุรกิจ คิดเป็น 36.2% ของสินเชื่อรวม ปรับลดลง 3.5% ซึ่งลดลงแทบทุกธุรกิจ ยกเว้นสินเชื่อเกษตรกรรม และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ที่ยังคงมีการขยายตัวเล็กน้อย

ส่วนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีภาระค้ำประกันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในอัตรา 21.8% จากการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2556
กำลังโหลดความคิดเห็น