อดีต ส.ส.ปชป.สะกิด คสช.-สนช.ระวังจะโดน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” วางยา หลังเล็งดัน ร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกบังคับใช้ เหตุมีการสอดไส้ผันเงินกองทุน 1.5 หมื่นล้านไปใช้ในโครงการประชานิยม
นายสรรเสริญ สมะลาภา อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. ... เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลให้ธนาคารรัฐที่รับฝากเงินจากประชาชนต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ราว 15,000 ล้านบาทต่อปี โดยครอบคลุมธนาคารรัฐ 4 แห่งคือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยผู้ร่างเดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมระหว่างธนาคารเอกชนและรัฐ กรณีที่ธนาคารเอกชนเสียค่าธรรมเนียมให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในอัตราปีละ 0.47% ของเงินฝาก ซึ่งเงินที่เก็บไว้ในกองทุนฯ นั้น ให้นำไปเพิ่มทุนให้กับธนาคารรัฐเพื่อความแข็งแกร่งในกรณีที่จำเป็น แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน ครม.ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏว่าได้เพิ่มข้อความให้นำเงินในกองทุนฯ มาชดเชยธนาคารรัฐในโครงการประชานิยม เห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่ารัฐบาลสมัยนั้นคิดแต่จะหาเงินมาใช้ให้ได้มากที่สุดอย่างไรโดยเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบ
“โดยหลักแล้วเงินที่ได้จากธนาคารรัฐที่จัดตั้งจากภาษีของประชาชนควรจะส่งเข้า กระทรวงการคลัง และเงินที่ชดเชยธนาคารรัฐซึ่งมาจากภาษีของประชาชนก็ควรจะได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากสภาฯ ไม่ใช่พอได้เงินมาก็เอาไปใช้แบบโต้งๆ สุดท้ายก็เจอปัญหาทุจริตเพราะไม่มีใครตรวจสอบได้ เรากำลังพูดถึงเงินราว 15,000 ล้านบาทต่อปีซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมาก หากร่างกฎหมายยังคงอยู่แบบนี้ คสช.และ สนช.ควรดูให้ลึกซึ้งว่าความยั่งยืนและผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวอยู่ตรงไหน อย่าเอาเพียงแต่เร็วเห็นว่าผ่าน ครม.ชุดก่อนมาแล้วก็เห็นชอบ มิเช่นนั้นจะซ้ำรอยกับรัฐบาลชุดเก่า ถ้าไม่มีทางเลือกจริงๆ และอยากให้มีความยุติธรรมระหว่างธนาคารเอกชนและรัฐ ก็ให้ธนาคารรัฐเสียค่าธรรมเนียมให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ และสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหมือนธนาคารเอกชน วิธีนี้จะทำให้เวลาการใช้หนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เดิมเหลืออีก 21 ปี จะหดลงมาทันตาเห็น โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวครับ”