xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก ADAM พุ่ง 858%-เปลี่ยนธุรกิจ 2 ขาใหญ่แลกซื้อบริษัทมาขายต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เบื้องลึก” ดีล ADAM รุกหนักหาเงินซื้อกิจการ “กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์” พบขาใหญ่ “ยุทธพงษ์ เสรีดีเลิศ” ผู้สนใจใน DIMET และกองทุนสิงคโปร์ คือ กลุ่มทุนใหม่ที่เตรียมซื้อเพิ่มทุน ADAM เพื่อนำเงินไปซื้อบริษัทของกลุ่มตน ตามแผนเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม ยิ่งกว่านั้น แท้จริง “กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์” เคยเป็นบริษัทลูกสาว “เสี่ยเปี๋ยง” คนสนิททักษิณ นักธุรกิจที่พัวพันกรณีทุจริตจำนำข้าวแบบจีทูจี รัฐบาล “ปู” และกรณีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร
 
ความร้อนแรงของราคาหุ้นขนาดเล็ก ยังไม่มีวี่แววยุติ แม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกมาส่งสัญญาณเตือนนักลงทุน ถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์บางตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินเหตุผลหรือพื้นฐานรองรับ แบบไร้เหตุผล แต่ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวหาได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ชื่นชอบการเข้าเก็งกำไรในหุ้น และความร้อนแรงจากประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ คือหุ้นของบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ADAM) ที่เคยสร้างชื่อให้นักลงทุนต้องจดจำมาแล้วตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อบริษัท อาร์ เค มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RK)
 
ในรอบนี้ ADAM  ก็สร้างปรากฏการณ์ให้น่าจดจำอีกครั้ง โดยอาศัยระยะเวลาเพียง 3 เดือนผลักดันราคาหุ้นจาก 1.46 บาทเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2557 ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.00 บาทเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 858% หรือ 12.54 บาท ผ่านการเล่นกระแสข่าวการขายกิจการบริษัทย่อย, การมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ และการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (BACKDOOR LISTING) โดยการซื้อกิจการบริษัทประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาตลอด 3 เดือน
 
จนในที่สุด ADAM ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย “SP” สั่งห้ามซื้อขายหุ้นดังกล่าว จนกว่าจะชี้แจงข้อมูลกรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2557 เพิ่มวาระการประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติการซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ (KITHA) มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 800 ล้านบาท ซึ่งถือว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้
 
 เหตุผลเนื่องจากรายการดังกล่าวเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่มีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต.เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกัน 
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกขู่จาก ตลท. แต่ ADAM ยังเดินหน้าแผนธุรกิจของตนอย่างต่อเนื่อง โดยบอร์ดยังให้พิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการของบริษัทเนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 8 ได้มีมติอนุมัติซื้อหุ้นสามัญของ บริษัทกีธา ส่งผลให้บริษัทมีความผูกพันในการชำระค่าหุ้นของบริษัทกีธาตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างบริษัทกับบริษัท ที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัทกีธา) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 780 ล้านบาท กอปรกับได้รับแจ้งจากบริษัท ที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ว่า ไม่ประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามที่อนุมัติจากมติผู้ถือหุ้นของบริษัทอีกต่อไป ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการได้หารือร่วมกันและสรุปแนวทางดำเนินการได้ดังนี้
 
กรณีแรก บริษัทจะออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ Fortune Thailand Investment Fund และจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อออกและเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัทได้มีส่วนร่วมในการลงทุนของบริษัทในครั้งนี้         
 
กรณีที่สอง เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรรมการของบริษัทติดต่อกับ Fortune Thailand Investment Fund เพื่อขอความเห็นชอบแนวทางดำเนินการดังกล่าว รวมถึงการขอรับการสนับสนุนด้านการเงินจาก Fortune Thailand Investment Fund ในกรณีที่จำนวนเงินที่บริษัทจะได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการชำระค่าหุ้นของบริษัท กีธา  โดยเบื้องต้น ได้แจ้งแนวทางดังกล่าวให้ Fortune Thailand Investment Fund รับทราบแล้ว และ Fortune Thailand   Investment Fund จะแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัททราบภายในวันที่ 26 กันยายน 57 นี้ ซึ่งบริษัทจะได้จัดประชุมคณะกรรมการเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวข้างต้นอีกครั้งและจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบต่อไป
 
ทั้งนี้ หากภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ADAM  สามารถชี้แจงข้อสงสัยของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เชื่อว่าหุ้น ADAM จะสามารถกลับมาซื้อขายได้ตามปกติอีกครั้ง และเรื่องทุกอย่างคงจะยุติลงแบบค้างคาใจนักลงทุน ว่า เพียงแค่การเพิ่มทุนโดยขายหุ้นให้เพื่อนร่วมทุนใหม่ แล้วเข้าไปซื้อหนึ่งในกิจการของผู้ร่วมทุนใหม่จะผลักดันราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นกว่า 858% ได้หรือ?
 
ชำแหละดีล ADAM เปลี่ยนธุรกิจ-ใครอยู่เบื้องหลัง
 
หากพิจารณาข้อมูลการขายหุ้นและการซื้อกิจการใหม่ของ ADAM ตั้งแต่เริ่มมีกระแสข่าวต่างๆ เกิดขึ้น พบว่า มีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะมีการเกี่ยวโยงกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการตลาดหุ้น และวงการค้าข้าว รวมถึงการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเริ่มตั้งแต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการแนะนำให้เข้าลงทุนในหุ้น ADAM ผ่านบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์บางแห่ง รวมถึงจากนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงบางราย จนการซื้อขายหุ้น ADAM มีความร้อนแรงจัดและเป็นการซื้อขายที่มีทุกรูปแบบ
 
กล่าวคือมีทั้งการซื้อหุ้นผ่านกระดาน Big Lot (กระดานซื้อขายรายใหญ่) และการซื้อผ่าน NVDR จนต้องเข้าเกณฑ์ Cash Balance (การต้องวงเงินสดเท่าจำนวนที่ซื้อหุ้นฝากไว้เป็นหลักประกันกับบริษัทหลักทรัพย์ก่อนเข้าซื้อหุ้นนั้นได้) แต่ราคาหุ้นก็ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างเนื่อง และมีมูลค่ามากกว่าที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะจ่ายเงินเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งบริษัทขายให้อยู่ที่ระดับ 1.71 บาท/หุ้น (ณ 26 ก.ย. ราคาหุ้นอยู่ที่ 14 บาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 12.29 บาท หรือ 718% จากราคาขายแบบ PP ที่ 1.71 บาท) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกำไรที่มากโข หากเกิดการตัดสินใจขายหุ้นทำกำไร
 
ประเด็นถัดที่น่าสนใจคือ ตัวธุรกิจและสินทรัพย์ที่ ADAM พยายามอย่างเต็มที่เพื่อเข้าซื้อกิจการ จนถูก ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย “SP” หลังไม่ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวนั้น พบว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มทุน 2 กลุ่ม กล่าวคือ บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ แห่งนี้ ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มีโครงการดำเนินงานอยู่ 3 โครงการ เดิมมีชื่อว่า บริษัทสิราลัย จำกัด เป็นหนึ่งในเครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” ที่ถูก ปปช.สอบทุจริตระบายข้าวในโครงการรับจำนำแบบรัฐต่อรัฐหรือ จีทูจี ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตบ้านเอื้ออาทร อีกทั้งยังมีความสนิทสนมกับนักโทษหนีคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองคนอื่นๆ เช่นนายวัฒนา เมืองสุข โดยบริษัท สิราลัย มีนางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวของ “เสี่ยเปี๋ยง” เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท
 
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีในวงการค้าข้าวถึงความเกี่ยวข้อง ระหว่าง “บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง” กับ “บริษัทสยามอินดิก้า” นั้นมีผู้ถือหุ้นอยู่ในกลุ่มเดียวกัน สถานที่ตั้งอยู่ที่เดียวกัน และใช้เจ้าหน้าที่บริษัท (ลูกจ้าง) กลุ่มเดียวกันอีก โดยบริษัทหลังได้ดำเนินบทบาทเป็น “ตัวแทน” ให้กับ “เสี่ยเปี๋ยง” ซึ่งถูกฟ้องล้มละลายคดียักยอกข้าวและผิดสัญญาของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ได้เข้าร่วมการซื้อขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลในลักษณะผูกขาดมาตั้งแต่สมัยของนางพรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาจนกระทั่งถึงสมัยของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ก็เคยเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปี 2545 ครั้งที่ได้รับสิทธิ์ส่งมอบข้าวให้กับองค์กรสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อก) เพียงรายเดียว อีกทั้งพัวพันการทุจริตข้าวในโครงการรับจำนำข้าว แต่กลับมีชื่อคว้าประมูลซื้อข้าวล็อตใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์เป็นจำนวนถึง 1.78 ล้านตัน
 
ต่อมาบริษัทสิราลัย จำกัด ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ พร้อมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น จำนวน22,000 หุ้น มูลค่า 2,200 ล้านบาททั้งหมด ภายหลังจากที่ นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท สิราลัย ปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในเอกชนจำนวน 91 ราย ที่ถูก ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาคดีทุจริตระบายข้าวในโครงการรับจำนำแบบ จีทูจี  ซึ่งมีผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ คือ บริษัท ที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 21,999,998 หุ้น มูลค่า 2,199,999,800 บาท ตามด้วยนายพีรศักดิ์ ไชยกุลงามดี และนายยุทธพงศ์ เสรีดีเลิศ ถืออยู่คนละ 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท และไม่ปรากฏคนจากกลุ่ม “จันทร์สกุลพร” เข้ามาเกี่ยวข้องอีก
 
เปิดชื่อกลุ่มทุนใหม่ ADAM ...“เสี่ยก๋อย”
 
สำหรับ บริษัท ที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ ใน “กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์” แจ้งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 มีทุน 50 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจ เข้าเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบในห้างหุ้นส่วนจำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชน (โฮลดิ้ง คัมปานี) มีนายยุทธพงษ์ เสรีดีเลิศ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และถือหุ้นใหญ่สุด จำนวน 249,000 หุ้น จากหุ้นทั้งหมด 500,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาทตามมาด้วย ไลอ้อน ทรัสต์ (สิงคโปร์) ลิมิตเต็ด นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 และเป็นผู้บริหารกองทุนที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ The Monetary Authority of Singapore ถือหุ้นจำนวน 245,000 หุ้น
 
โดยก่อนหน้านี้ นายยุทธพงศ์ เสรีดีเลิศ หรือ “เสี่ยก๋อย” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อสำนักหนึ่งว่า สนใจในกิจการของบริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) (DIMET) ที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรงไม่แพ้ ADAM อีกทั้งในวงการตลาดหุ้นต่างมองว่า นายยุทธพงษ์ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ที่มีชื่อเสียง มีธุรกิจในมือหลายกิจการ เช่น รถยนต์นำเข้า และยังเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สแตนดาร์ด เมทอล จำกัด ซึ่งเคยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดี ไปทำการยึดทรัพย์ของ บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON เพื่อนำไปขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ
 
นอกจากนี้ ยังเคยยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ช่วยนัดไกล่เกลี่ยกรณีขอเข้ามีส่วนในการบริหาร บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์(PERM) หลังทยอยเข้าซื้อหุ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท อีกทั้งยังเป็นหลานของ “ชนะชัย ลีนะบรรจง” ผู้บริหาร บมจ. อีเอ็มซี (EMC)
 
โดยหากย้อนกลับไปที่การขายหุ้น PP ของ ADAM ที่ระบุว่า จะขายให้กับ Fortune Thailand Investment Fund และผู้ถือหุ้นเดิม แต่หากเงินในการซื้อหุ้นบริษัท กีธาฯ ไม่เพียงพอจะขอรับเงินสนับสนุนจาก Fortune Thailand Investment Fund มาดำเนินการนั้น ก่อนหน้านี้มีการยืนยันแล้วว่า กองทุนดังกล่าว คือกลุ่มผู้ลงทุนของที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ ที่มีนายยุทธพงษ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั่นเอง
 
นอกจากนี้ พบว่า บริษัท กีธา ในอดีตมีการเพิ่มทุนอย่างน่าสงสัย เริ่มจาก บริษัท สิราลัย จำกัด(ชื่อเดิม) จดทะเบียนวันที่ 5 มีนาคม 2555 ด้วยทุนจด 1 ล้านบาท ต่อมาปรับขึ้นเป็น 1,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 และเพิ่มเป็น 2,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า เกิดขึ้นหลังจากที่ บริษัท GSSG IMP AND EXPORT CORP จากเมืองกวางเจา ประเทศจีน เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ ทั้งที่ตัวบริษัททำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฯ ไม่ใช่การค้าข้าว และมีการตรวจพบว่า ตัวแทนบริษัทที่เข้ามาดำเนินการ คือ นายรัฐนิธ โสติกุล  และ นายนิมล รักดี มีความเกี่ยวโยงกับ บริษัทสยามอินดิก้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 ก่อนที่จะมีการนำข้าวไปเร่ขายต่อให้กับโรงสี ตามข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในสมัยนั้น
 
ส่วนเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามาในทุนจดทะเบียนใหม่ทั้ง 2 รอบของบริษัท สิราลัย (บริษัท กีธาฯ ในปัจจุบัน) ส่วนใหญ่มาจากคนในตระกูล “จันทร์สกุลพร” ของ “เสี่ยเปี๋ยง” นั่นเอง รวมทั้งยังเคยมีชื่อของ “นางกิ่งแก้ว ลิมปิสุข” ที่เคยมีชื่อเป็นอดีตกรรมการบริษัทเพรซิเด้นท์ฯ ซึ่งถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบคดีบ้านเอื้ออาทร  ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นำเงินสด 400 ล้านบาทเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 ของบริษัทด้วย
 

“มงคล สุนทรสุข” ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัวจริงหรือ?
 ขณะที่นายมงคล สุนทรสุข ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ ADAM ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทในสัดส่วน 15.7% พบว่า เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน (งานที่ดิน) เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนระดับ 9  กรมที่ดิน ก่อนเกษียณอายุเมื่อปี 2548 และเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ของ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) ก่อนขายหุ้นออกไปแล้วทั้งหมด
 
ส่วนการขายบริษัทย่อยด้านสื่อสารมวลชนทั้ง 4 แห่งออกไป จนทำให้ ADAM เข้าข่ายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีสินทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรูปเงินสดหรือหลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company) และจะต้องดำเนินการให้มีธุรกิจใหม่ภายใน 12 เดือนตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น หลายฝ่ายมองว่า ถือเป็นการเปิดทางให้ผู้บริหารในบริษัทย่อยเดิม นำธุรกิจไปดำเนินการต่อเพราะส่วนใหญ่โดยเฉพาะธุรกิจทีวีกีฬา “TSport” มีสัญญาทำไว้กับภาครัฐหลายโครงการ เห็นได้จากเป็นการขายให้กับนายรัฏ อักษรานุเคราะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารของบริษัทย่อยนั่นเอง
 
ทั้งนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ภายหลังจาก ADAM รายงานความคืบหน้ากรณีเงินเพิ่มทุนจากการขายหุ้นแบบ PP จะช่วยปลดล็อกหุ้น ADAM ให้กลับมาซื้อขายอีกครั้งได้หรือไม่ และราคาหุ้นจะเดินไปในทิศทางใดต่อไป อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการใดออกมาจัดการในเรื่องประเภทนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น