xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีลดเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 1.6% ห่วงหนี้ครัวเรือน-ส่งออกหลุดห่วงโซ่ค้าโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารพัฒนาเอเชีย ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปีนี้โตแค่ 1.6% จากเศรษฐกิจครึ่งปีแรก ส่งออกที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ แต่หากรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ 3 เดือนได้ 35% จริง ก็มีโอกาสโตได้สูงกว่านี้ จับตาหนี้ครัวเรือนห่วงยอดผิดนัดยืดเยื้อไหลเป็นเอ็นพีแอล พร้อมแนะรัฐเน้นลงทุนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในระยะยาว พร้อมพัฒนาศักยภาพด้านส่งออกหลังบางสินค้าหลุดห่วงโซ่อุปทานโลก

น.ส.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีการขยายตัวเพียง 0.4% รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้เอดีบีปรับประมาณการจีดีพีลงเหลือ 1.6% จากเดิม 2.9% การส่งออกขยายตัวได้เพียง 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่น่าห่วงที่ 2.2% จากแรงกดดันด้านราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตร และโภคภัณฑ์ที่ลดลง

ส่วนในปีหน้าคาดการณ์จีดีพีเติบโตที่ระดับ 4.5% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน ส่วนการส่งออกเติบโตที่ 6-7% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศหลักปรับตัวขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3% จาก 1.5% ในปีนี้ สหภาพยุโรป 1% จาก 0.8% ในปีนี้ และญี่ปุ่น 1.4% จาก 1% ในปีนี้ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนน่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 7.4% เนื่องจากยังมีความเสี่ยงด้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น และกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะเติบโตได้ที่ 5.6% จาก 4.8% ในปีนี้

“เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่เร่งขึ้น หากภาครัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบฯ ใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 35% ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าจับตามอง และหากทำได้เศรษฐกิจปีนี้อาจจะขยายตัวได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ก็ได้ แต่สำหรับในปีหน้าแนวนโยบายก็น่าจะเน้นในส่วนของงบการลงทุนซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนได้อย่างยั่งยืนกว่า”

สำหรับปัจจัยที่ยังต้องจับตาในปีหน้านั้น เป็นกรณีของการลงทุนภาครัฐที่จะสามารถอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ออกมาได้มากน้อยขนาดไหน เนื่องจากจะเป็นส่วนที่ต่อเนื่องไปสู่การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคด้วย รวมถึงความคืบหน้าในนโยบายปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งด้านภาษี และเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

น.ส.ลัษมณ กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ หนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น โดยในช่วงปลายปีก่อนขึ้นไปสูงถึง 82% และลดลงเหลือ 79% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ 2.2% แต่ตัวน่าเป็นห่วงก็คือ อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ไม่เกิน 3 เดือนซึ่งในไตรมาส 4 ปีก่อนเพิ่้มขึ้นถึง 31.3% เนื่องจากในส่วนนี้หากมีการผิดชำระหนี้ต่อไปก็จะเกิน 3 เดือน และกลายเป็นเอ็นพีแอลต่อไป

“ตรงนี้ก็คงต้องรอตัวเลขของแบงก์ชาติต่อไปว่าอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ยังไม่เกิน 3 เดือนนี้ จะลดลงหรือไม่ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยระยะสั้นๆ ในขณะนั้นหรือไม่ แต่หากมีอัตราเพิ่มขึ้นก็จะเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะสัดส่วนตรงนี้มีโอกาสที่จะไหลไปเป็นเอ็นพีแอลได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในปีหน้าก็จะยิ่งกดดันในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ เอดีบียังนำเสนอให้ทางภาครัฐบาลหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพด้านการส่งออกของประเทศไทยให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยพิจารณาถึงประเภท และคุณภาพของสินค้าที่ตลาดโลกต้องการ เนื่องจากเท่าที่มีการสำรวจในบางรายการสินค้าของไทยได้หลุดจากห่วงโซ่อุปทานของโลกจากที่เคยเป็นอันดับต้นๆ ในการส่งออก เช่น ซอฟต์แวร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งทำให้ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง และเติบโตได้ไม่มากนักแม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น