xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบี คงเป้าจีดีพีไทยปีหน้า เติบโตได้ร้อยละ 4.5 คาดส่งออก-ลงทุนภาครัฐหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอดีบี คงจีดีพีไทยปีหน้าโตร้อยละ 4.5 พร้อมคาดหวังการลงทุนภาครัฐ-ส่งออก เป็นตัวหนุน ส่วนปีนี้ปรับคาดการณ์เติบโตลง เหลือเพียงร้อยละ 1.6 ยอมรับ เป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน

นางสาวลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี กล่าวว่า เอดีบีปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือโตร้อยละ 1.6 จากเดิมคาดการณ์ว่า โตร้อยละ 2.9 เนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และข้อมูลเศรฐกิจในเดือนกรกฎาคมแสดงให้เห็นว่าภาคการผลิต การส่งออกและการนำเข้ายังไม่ฟื้นตัวนัก

ส่วนในปี 2558 ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.5 เท่ากับประมาณการเดิม แต่ยังเป็นการเติบโตแบบไม่เต็มศักยภาพ โดยการลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนโตร้อยละ 3 และเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นร้อยละ 1 น่าจะช่วยส่งผลให้การส่งออกเข้มแข็งขึ้น

นางสาวลัษมณ กล่าวว่า ปัจจัยบวกมาจากการลงทุนภาครัฐจะดำเนินการได้ในงบประมาณปี 2558 หลังจากที่ชะงักงันเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง โดยจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3-4 จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากงบประมาณปีที่แล้ว โดยเป็นงบประมาณขาดดุล 250,000 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 1.9 ของประมาณการจีดีพี อัตราการเบิกจ่ายของปีงบประมาณ 2558 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา งบลงทุนของปีงบประมาณ 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จากงบประมาณปีที่แล้ว

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่า จะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า สะท้อนจากความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจที่ดีขึ้น การอนุมัติโครงการลงทุนบีโอไอ และมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนเอสเอ็มอี รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีหน้า ก็จะมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

โดยเอดีบีมองการส่งออกปี 2558 โตร้อยละ 6-7 จากปีนี้ ที่คาดการณ์จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก ด้านการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นตามการลงทุนเพื่อการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงต่อประมาณการทางเศรษฐกิจ อาจมากจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงเกือบร้อยละ 84 โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มของหนี้ค้างชำระ 3 เดือน ที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในอนาคต จะส่งผลให้แรงกดดันด้านการเงินของครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก หากอัตราดอกเบี้ยเริ่มเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.อาจตัดสินใจเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ขณะที่เงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าอยู่ ที่ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 ที่ ร้อยละ 2.6 ตามการปรับโครงสร้างราคาพลังงานสูงขึ้น และ กระทบต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องจับตาการปฏิรูปพลังงานและภาษีของประเทศ และสนับสนุนให้มีการจัดโซนนิ่งภาคการเกษตรและส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น